กกต.ยันพยายามเจรจานำบัตรโหวตใต้ออกมาจากไปรษณีย์หาดใหญ่ คาดของ 3 จว.สำเร็จก่อนเที่ยง เผยตำรวจคอนเฟิร์มไม่รุนแรงเน้นคุย คาดเลือกตั้งนอกเขตจุดปัญหาได้ปลาย ก.พ. แต่ยังไงก็ยังประกาศผลในเดือนหน้าไม่ได้ บอกถึงลาออกเลือกตั้งก็เดินหน้าต่อ แจงปิดหน่วยแล้วเปิดอีกไม่ได้ไร้ กม.รองรับ ระบุ 2 ปัจจัยเปิดสภาไม่ได้อย่างน้อย 3-4 เดือน รับงวดนี้ต้นทุนสูงเหตุหลายหน่วยเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่ม
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กกต.ถึงปัญหาบัตรเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่สามารถส่งไปในจังหวัดต่างๆ ได้เนื่องจากมีมวลชนไปปิดล้อมว่า กกต.พยายามหาทางแก้ไข ตอนนี้พยายามเจรจานำบัตรเลือกตั้งออกมาจากที่ทำการไปรษณีย์หาดใหญ่ คาดว่าก่อนเที่ยงน่าจะนำบัตรเลือกตั้งของ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ออกมาได้ ส่วน จ.สงขลา และสตูลยังมีปัญหาอยู่ ขณะที่ จ.ชุมพร และ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ก็ยังไม่สามารถนำบัตรเลือกตั้งออกมาได้ ตรงนี้จะเป็นปัญหาในการใช้สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.
นายสมชัยกล่าวต่อว่า ก็ต้องใช้ความสามารถใช้ความพยายามในการทำให้เกิดความสำเร็จ ตอนนี้ก็ประสานกับตำรวจในพื้นที่ ซึ่งทางตำรวจยืนยันจะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะหากใช้ความรุนแรงจู่โจมเข้าไปชิงบัตรเลือกตั้ง ท้ายที่สุดจะเกิดความรุนแรงในพื้นที่กลายเป็นสถานการณ์ไม่สงบได้ ต้องใช้การเจรจาเป็นสำคัญ บางพื้นที่เจรจาได้ บางพื้นที่เจรจาไม่ได้
นายสมชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดที่ผู้มีสิทธิไม่สามารถลงคะแนนได้เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ทาง กกต.ได้คุยกันว่าจะจัดการเลือกตั้งนอกเขตประมาณปลายเดือน ก.พ. โดยมีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตประมาณ 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ ดังนั้นคะแนนส่วนนี้ต้องนำไปรวมกับคะแนนวันที่ 2 ก.พ.จึงจะประกาศ ส.ส.ทั้ง 375 คน ยังกระทำไม่ได้จนกว่าจะนำผลการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตส่วนนี้ไปสมทบ
เมื่อถามว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการลาออกใช่หรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ถึง กกต.ลาออกก็ไม่เกิดสุญญากาศ สิ่งต่างๆ ที่สังคมเข้าใจอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน แม้ กกต.ลาออกทั้ง 5 คนการจัดการเลือกตั้งก็ต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. เพียงแต่การรับรองผลการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ประเด็นที่บอกว่า กกต.ลาออกจะสามารถยุติการเลือกตั้งได้เป็นการเข้าใจผิด การอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ของ กกต.สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เราไม่ต้องการให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายไปกว่านี้ การทำหน้าที่เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่มีอยู่ในการจัดการให้เกิดความสำเร็จภายใต้กรอบของกฎหมายและไม่ให้เกิดความรุนแรง ทำให้การเลือกตั้งเกิดความบริสุทธิ์ เรียบร้อย
นายสมชัยกล่าวว่า มีอีกเรื่องที่อยากจะแจ้งให้ประชาชนทราบ คือ มีความเข้าใจผิดว่าถ้าหากมีการสั่งให้ยุติการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดแล้ว ทำไมหลังจากเหตุการณ์ไม่สงบ คลี่คลายไปแล้วไม่เปิดหน่วยเลือกตั้งต่อ อย่างวันที่ 26 ม.ค. มีคนไปชุมนุมคัดค้านตอน 9 โมง หลังจากนั้นก็มีการสลายไป ทำไม กกต.ไม่เปิดหน่วยต่อ ขอเรียนว่า กกต.เขต หรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) สามารถใช้อำนาจปิดการลงคะแนนได้ถ้าเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้น แต่การสั่งเปิดทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อปิดแล้วต้องยุติการเลือกตั้งแล้วค่อยกำหนดวันเลือกตั้งใหม่
เมื่อถามว่า ที่มองว่าหลังการเลือกตั้งจะเปิดประชุมสภาฯ ไม่ได้มองจากปัจจัยอะไร นายสมชัยกล่าวว่า มีหลายปัจจัย โดยปัจจัยแรก คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะประกาศไม่ได้หากไม่ได้คะแนนครบทุกหน่วยทั้ง 9.9 หมื่นหน่วย แค่เพียง 1 หน่วยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งหรือนับคะแนนได้ก็จะติดตรงนี้ คิดว่าคงใช้เวลาหลายเดือนแต่กี่เดือนไม่แน่ใจ ปัจจัยที่ 2 คือ ส.ส.เขต 375 เขตจะต้องนำคะแนนของการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมารวมด้วย ดังนั้นต้องรอการเลือกตั้งที่จะกำหนดขึ้นอีกครั้งในปลายเดือน ก.พ. เมื่อเลือกตั้งแล้วกว่าจะประกาศผลก็ประมาณปลาย มี.ค. หากมีคนคัดค้าน และจัดการเลือกตั้งไม่สำเร็จอีกก็ต้องกำหนดวันเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือนขึ้นไป ปัจจัยเหล่านี้จะชี้ว่าสภาฯ จะเปิดไม่ได้ในระยะเวลายาวนานพอสมควร ส่วนจะเป็น 3-4 เดือนหรือมากกว่านั้นไม่สามารถระบุได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ กกต.ไม่ได้กำหนด แต่เป็นความขัดแย้งในสังคม ซึ่งรัฐบาลต้องแก้ไขให้เราด้วย
นายสมชัยกล่าวด้วยว่า หากเหตุการณ์คลี่คลายลงเมื่อใด กกต.จะจัดการเลือกตั้งใหม่ เหมือนกับเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ที่บอกว่าต้องจัดลงคะแนนใหม่ใน 7 วันนั้นหมายความว่า หากประเมินแล้วเหตุการณ์ไม่สงบยังไม่คลี่คลาย จัดการเลือกตั้งไปก็ไม่สงบ กกต.มีสิทธิพิจารณาว่าควรจัดเมื่อไหร่ เพราะการจัดในเวลาใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ก็จะเป็นการเพิ่มสถานการณ์ให้รุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างมีคนถามว่า เมื่อการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ไม่เรียบร้อยทำไมไม่จัดในวันที่ 30 ม.ค. หรือ 31 ม.ค.เราก็บอกว่าหากจัดตามนั้นก็ยิ่งเพิ่มความร้อนของสถานการณ์ทำให้ความขัดแย้ง ความรุนแรงต่างๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงขยับไปอีก 1 เดือน โดยพยายามใช้งบประมาณที่มีอยู่เดิมคิดว่ายังเพียงพออยู่ แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ต้นทุนสูง หลายอย่างไม่คาดคิด มีความเสียหายหลายอย่างเกิดขึ้น หน่วยงานราชการที่มาช่วย กกต.ก็เรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ หรือมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร มีเบี้ยเลี้ยงหน่วยรักษาความปลอดภัยต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้สูงขึ้นกว่าปกติ