“ป.ป.ช.” เรียก “เลขาฯศาล รธน.-วิรัตน์” ให้ถ้อยคำประเด็นแก้ รธน.ที่มา ส.ว.รวมทั้ง เลขาสภาฯ มาสอบถามเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการเสนอร่าง กม.พรุ่งนี้ (13 ธ.ค.) พร้อมเปิดให้ ส.ส.-ส.ว.ที่ถูกกล่าวหา 383 คน ได้มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา ไม่แน่ใจเสร็จก่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 แต่ สัญญาจะไต่สวนเร็วที่สุด อดีต ส.ส.-ส.ว.มีหนาว รับมติยากสวนทางคำวินิจฉัยศาล เหตุ รธน.ให้ผูกพันทุกองค์กร
วันนี้ (12 ธ.ค.) นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและรองโฆษก ป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าคดีถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 312 คนจากเหตุศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าที่ประชุมมีมติรวมสำนวนคำร้องกรณีดังกล่าว จากเดิม 5 เรื่องเป็น 8 เรื่อง โดยแบ่งเป็นคดีอาญา 3 เรื่อง คดีถอดถอน 5 เรื่อง ซึ่งในทั้งหมดนี้มีเรื่องที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.จาก 312 คน เป็น 383 คน รวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะองค์คณะไต่สวน ที่มีนายวิชา มหาคุณ นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน ประธาน ป.ป.ช.ได้ลงนามคำสั่งแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว และจะให้ทางผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ขณะเดียวกัน จะต้องมีการเชิญผู้ร้องเรียน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายถาวร เสนเนียม นายวันชัย สอนสิริ และนางพรพรรณ บุณยรัตนพันธุ์ ส.ว.สรรหา มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมด้วย โดยในวันที่ 13 ธ.ค.จะมีการเชิญนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะเจ้าของเรื่องมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมพร้อมกับเอกสารข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัย และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม หลังจากนั้นจะมีการเชิญข้าราชการรัฐสภา โดยเฉพาะนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาสอบถามเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามกระบวนการไต่สวนจะต้องมีการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่ถูกกล่าวหาจำนวน 383 คน ได้มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา ทั้งการให้ถ้อยคำและแบบลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วันตามที่กำหนด แต่อาจจะมีการลดขั้นตอนหรือตัดเอกสารที่ซ้ำซ้อนเพื่อไม่ให้กระบวนการเยิ่นเย้อ ล่าช้า ยืนยันว่าองค์คณะไต่สวนพยายามจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะแล้วเสร็จทันก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.57 หรือไม่ เพราะระบบไต่สวนหากพูดก่อนจะเหมือนเป็นการตั้งธง แต่ขอสัญญาว่าจะทำให้เร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วมติของ ป.ป.ช.จะสวนทางกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายประสาท กล่าวว่า “โดยหลักแล้วไม่น่าจะได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานด้วย แต่ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร” เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ามติ ป.ป.ช.จะสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายประสาท กล่าวว่า “จะพูดอย่างนั้นทีเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากต้องดูเอกสารหลักฐานและการไต่สวนอีกครั้งหนึ่งก่อน เพราะตามหลักยุติธรรมระบบไต่สวนจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย”