อดีต ส.ส.กลุ่มมัชฌิมา ดาหน้าลาออก ภท. ตามด้วยอดีต 3 ส.ส.ภท. คาดรวม 12 ชีวิต “เรืองศักดิ์” ปัดขัดแย้ง แต่แนวทางการเมืองขัดกัน รอมัชฌิชาพร้อมก่อนสมัครเป็นขี้ข้าแม้ว “ศุภชัย” ย้ำพรรคสู้ศึกเลือกตั้งแม้มีชุมนุม ชี้พวกลาออกไม่แปลกเหตุไร้ใจนานแล้ว เชื่อ ส.ส.ไม่ลด ยึดความเป็นพรรคอันดับ 3 มั่นใจมีเลือกตั้ง ขู่มิเช่นนั้นไอพียูตัดไทยพ้นสมาชิก ยก “ห้อย” ทรงคุณค่าชาติ ปชช.ต้องการ อ้างเข้าใจ กปปส. แต่ต้องยึด รธน.เลือกตั้ง ขออย่าบอยคอต
วันนี้ (11 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่พรรคภูมิใจไทยตั้งแต่ช่วงเช้า มีอดีต ส.ส.กลุ่มมัชฌิมา พรรคภูมิใจไทย ทยอยเดินทางมายังที่ทำการพรรคเพื่อขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ประกอบด้วย นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายมนู พุกประเสริฐ อดีต ส.ส.สุโขทัย และนางนันทนา สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท ส่วนอดีต ส.ส.ที่ส่งตัวแทนมาขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ประกอบด้วย นายมานิต นพอมรบดี อดีต ส.ส.ราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต ส.ส.ราชบุรี นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส.สุโขทัย นอกจากนี้ยังมีอดีตส.ส.ของพรรคที่ไม่ได้อยู่กลุ่มมัชฌิมา แต่มาลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในวันนี้ด้วย ประกอบด้วย นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส.นครนายก นายประนอม โพธิ์คำ อดีต ส.ส.นครราชสีมา น.ส.ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร อดีต ส.ส.ราชบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะลาออกเพิ่มเติม คือ นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ อดีต ส.ส.สระบุรี นางพรทิวา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท และนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ
โดยนายเรืองศักดิ์กล่าวว่า การลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งใดๆ เพียงแต่มีแนวทางการเมืองไม่สอดคล้องกันอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อยุบสภาแล้วจึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะลาออก แต่ยังไม่มีกำหนดที่จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ ขอให้เป็นความเห็นพ้องของ อดีต ส.ส.ในกลุ่มมัชฌิชาก่อน แต่มั่นใจว่าจะลงสมัครทันการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แถลงว่า ในฐานะที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในระบอบรัฐสภา ดังนั้น หลังจากที่มีการยุบสภาผู้บริหารของพรรคจึงมีการประสานเพื่อเตรียมตัวนัดประชุมพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังดำเนินไป ซึ่งขณะนี้ค่อนข้างคลุมเครือต่อประชาชนพอสมควร เพราะหลังจากมีกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 แต่ผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมอยู่ก่อให้เกิดความสับสนว่าบ้านเมืองจะไปทิศทางใด ในฐานะพรรคการเมืองซึ่งจดทะเบียนถูกต้อง และมีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง วันนี้พรรคจึงกำลังเตรียมตัวส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการยุบสภาย่อมมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เกิดขึ้น ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย วันนี้มีผู้แสดงความจำนงยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว 9 คน คือในส่วนของกลุ่มมัชฌิมา นอกจากนี้ยังมีสมาชิกพรรคที่ไม่ได้เป็นกลุ่มมัชฌิมา แต่ลาออกด้วย ซึ่งทั้งหมดแสดงจุดยืนว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มภูมิใจไทยมานานแล้ว ทั้งหมดจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องปกติที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าถ้าสมาชิกไม่ประสงค์จะอยู่ในพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ก็มีสิทธิที่จะลาออก ซึ่งพรรคไม่คัดค้านแต่แสดงความยินดีด้วยที่จะไปดำเนินงานการเมืองตามอุดมการณ์ของแต่ละท่านต่อไป ส่วนนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ยังคงเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยอยู่เหมือนเดิม
นายศุภชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคประเมินไว้ว่าจะได้จำนวน ส.ส.ไม่น้อยลง เพราะเรามีหลักว่าพื้นที่ใดที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา เราได้ทำการเมืองอย่างต่อเนื่อง และบรรยากาศขณะนี้คิดว่าประชาชนมีวิธีการเลือก และคิดว่าจะลงคะแนนให้ใคร ซึ่งเชื่อว่าจะแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรามั่นใจว่าจะดำรงความเป็นพรรคการเมืองอันดับที่ 3 ซึ่งจะเป็นพรรคทางเลือกที่สำคัญให้กับประชาชน ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 หรือไม่ เท่าที่พูดคุยนายอนุทิน พร้อมที่ลงมาทำงานการเมืองโดยลงสมัครด้วยตัวเอง แต่ต้องรอการประชุมพรรคก่อน ทั้งนี้ตนเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา คงไม่สามารถทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ได้เมื่อมีการยุบสภา
เมื่อถามว่าจะมีโอกาสที่นายเนวิน ชิดชอบ จะกลับมาเล่นการเมืองหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้พูดคุยกับนายเนวินนานแล้ว จึงไม่แน่ใจว่านายเนวินจะตัดสินอย่างไร แต่ที่ผ่านมาถือเป็นบุคคลที่คุณค่าต่อชาติบ้านเมือง และเชื่อว่านายเนวินรู้ว่าเวลาไหนจะดำเนินการอย่างไร และเชื่อว่าคนทั้งประเทศเรียกร้องนายเนวิน เพราะเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะพรรคภูมิใจไทย
นายศุภชัยกล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นกรรมการสมัชชาสหภาพรัฐสภา (ไอพียู) ทราบว่าเลขาธิการไอพียู แจ้งว่าถ้าไม่มีการเลือกตั้งในประเทศไทย องค์กรดังกล่าวจะตัดชื่อประเทศไทยออกจากการเป็นสมาชิกไอพียูที่มีอยู่ 160 ประเทศ หากประเทศไทยถูกตัดชื่อจริงจะเป็นปัญหาการยอมรับในทางสากล และจะส่งกระทบผลในระยะยาว ทำให้ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะเลิกคบหากับประเทศไทย
เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคต่อกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. นายศุภชัยกล่าวว่า ตนเข้าใจว่าทุกคนมีความมุ่งหมายให้บ้านเมืองสงบ ปราศจากคอร์รัปชัน แต่วันนี้สิ่งที่มีคือความเป็นนิติรัฐ เราไม่สามารถใช้การปกครองที่นอกเหนือจากการใช้กฎหมายมาบังคับได้ วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญ 50 มีกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว วันนี้อำนาจกลับมาอยู่ที่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิลงคะแนนเป็นพื้นฐานที่ไม่มีใครบังคับใครได้ และการเลือกตั้งถือว่าเป็นกติกาสากลทั้งโลกที่จะช่วยให้ปัญหาจบได้ แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น วันนี้คู่ขัดแย้งควรพูดคุยกันและเล่นตามกติกาตนจึงอยากขอให้ทุกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ต้องบอยคอต