“เด็จพี่” มาตามนัดยื่น กกต.ยุบ ปชป. เหตุ หน.พรรคเป็น กก.บห.พรรคขึ้นเวทีปราศรัยปลุกระดมให้ ปชช.ร่วมม็อบ “สุเทพ” ผิด ม.94 (4) อ้างรับเชิญไม่ได้ ย้อนกุ๊ยแดงชุมนุมไร้ กก.บห.แจม ฉะเล่นละคร ท่องบทยอมถอยถอนร่างแล้ว แต่ม็อบไม่จบ ส่อเจตนาล้มรัฐ รอดูมาตราฐาน กกต. หวังเป็นบรรทัดฐานหน้าที่พรรคการเมืองไม่ใช่ปลุกระดม
วันนี้ (7 พ.ย.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยเข้ายื่นคำร้องต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีปรากฎหลักฐานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงการชุมนุมดังกล่าวมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ จึงเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนรู้เห็นสนับสนุนการปลุกระดมมวลชนให้มาชุมนุมของนายสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือว่าเป็นกระทำที่เข้าข่ายผิดมาตรา 94 (4) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่เป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาสั่งยุบพรรคได้
“การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างจากสมัยที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมเพราะคราวนั้นพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีกรรมการบริหารพรรคไปขึ้นเวที แต่ครั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกลับขึ้นเวทีปราศรัยเอง แม้จะอ้างว่าได้รับเชิญให้ไปร่วม แต่เมื่อเป็นหัวหน้าพรรค เป็นสมาชิกรัฐสภา ก็ควรที่จะยึดมั่นระบบรัฐสภา ควรใช้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นสถานที่แก้ปัญหา แต่นี่เหมือนพรรคประชาธิปัตย์เล่นละครตั้งแต่แรก โดยในสภาก็เน้นอภิปรายแค่ที่มา ชื่อร่าง พ.ร.บ. แต่เมื่อถึงเนื้อหากลับนำมาอภิปรายบนเวทีของผู้ชุมนุม เพื่อหวังปลุกระดมให้ประชาชนที่เป็นพลังบริสุทธิ์หลงเชื่อ และเมื่อเวลานี้ทั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และวุฒิสภา ต่างยอมถอยจะปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตกไป รวมถึงถอนร่างกฎหมายอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันออกจากการพิจารณาของสภา แต่พรรคประชาธิปัตย์และนายสุเทพ ก็ยังสร้างเงื่อนไขเพื่อให้มีการชุมนุมและยกระดับการชุมนุม แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงว่าต้องการใช้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในการล้มล้างรัฐบาล”
โฆษกพรรคเพื่อไทยยังกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยยื่นขอให้กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์หลายครั้ง อย่างกรณี เงินบริจาค 259 ล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งยุบโดยมองว่าเป็นเรื่องเทคนิค ครั้งนี้ก็อยากจะดูมาตรฐานของ กกต.ว่าจะมองเรื่องนี้อย่างไร พรรคเพื่อไทยพยายามที่จะใช้กลไกการตรวจสอบตามช่องทางกฎหมายที่มีอยู่เพราะไม่อยากให้เกิดบรรทัดฐานว่าต่อไปพรรคการเมืองใดไม่เห็นด้วยในเรื่องใด ก็สามารถปลุกระดมและนำมวลชนออกมาชุมนุม เพราะการกระทำลักษณะนี้ไม่น่าจะเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง