“ส.ว.นฤมล ศิริวัฒน์” แฉฝ่ายรัฐบาลล็อบบี้หนักให้วุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เชื่อเอาไม่อยู่ จอดแน่แค่วาระแรก หลังเช็กกำลังพบ ส.ว.สายเลือกตั้งร่วมลงมติต้านเพียบ ด้าน “คำนูณ” โชว์ รธน.มาตรา 149 ยืนยันหลังวุฒิฯ คว่ำ กม. ส.ส.หรือ ครม.ไม่สามารถเสนอร่างใหม่ในหลักการเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันเข้าสู่สภาได้
นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ใหสัมภาษณ์วันนี้ (5 พ.ย.) ถึงกรณีกระแสข่าวว่าวุฒิสภาอาจจะโหวตคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ตนเชื่อว่าในวันที่ 11 พ.ย.นี้จะมี ส.ว.สายเลือกตั้ง ไม่ต่ำกว่า 15 คนที่จะโหวตต้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว และเมื่อรวมกับ ส.ว.สายสรรหาก็คงไม่ผ่านวาระ 1 แน่นอน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีการล็อบบี้หนักจากฝ่ายสนับสนุนเพื่อให้รับหลักการในวาระ 1 ไปก่อนและให้ไปแก้ในชั้นกรรมาธิการให้กลับไปเป็นร่างเดิมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แต่เชื่อว่าไม่สามารถทำได้ เพราะวันนี้ทุกคนต้องการให้ประเทศเกิดการเดินหน้าให้ได้
วันเดียวกัน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หาก ส.ว.ลงมติคว่ำวาระ 1 ว่า คนที่พออ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น น่าจะพอรู้ว่าในกรณีที่วุฒิสภายับยั้งร่าง พ.ร.บ.ใดไว้ ครม.หรือ ส.ส.จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกยับยั้งไว้นั้นไม่ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 149
ดังนั้น ในกรณีที่วุฒิสภาโหวตไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎรในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน นอกจากสภาผู้แทนราษฎรจะต้องรอไว้ 180 วันจึงจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่าจะยืนยันหรือไม่แล้ว ครม.และส.ส.ยังไม่อาจเสนอร่างฯ ใหม่ได้ภายในกำหนด 180 วันนี้อีกด้วยท่านใดคิดว่าเมื่อวุฒิสภายับยั้งแล้ว จะเสนอร่างฯใหม่เข้ามาทันที กลับไปอ่านมาตรา 149 ทั้ง 2 วรรคใหม่อีกทีนะ
“มาตรา 149 ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดตามมาตรา 147 คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้มิได้”
“ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอหรือส่งให้พิจารณานั้น เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป”