xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” แจง กมธ.เกษตร ยันฟลัดเวย์จำเป็น แก้ท่วมได้ ชาวอุทัยฯ โวยหน้าแล้งไม่ผันน้ำให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กมธ.เกษตรฯ สภา ถกสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตก “ปลอดประสพ” ยันจำเป็น โวชาวบ้านไม่โดนผลกระทบ แก้ท่วมได้ ยังอ้างชาวบ้านได้ประโยชน์เขื่อนแม่วงก์ “ชาดา” รับไม่มั่นใจทำแล้วแก้อุทกภัยจังหวัดตัวเองได้ ด้านนายก อบจ.อุทัยธานี หนุนสร้างเขื่อนแต่ต้องได้ประโยชน์มากกว่านี้ โวยหน้าแล้งไม่ผันน้ำให้แต่หน้าฝนโดนรับน้ำตลอด

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร มีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางผ่านน้ำมาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย รวมถึงความคืบหน้าสร้างเขื่อนแม่วงก์

โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. กล่าวว่า จะมีการจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) เพื่อผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 1,500 ลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ตะวันตก จำนวน 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ฝั่งตะวันออกจะผันน้ำออกทางแม่น้ำบางปะกง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี ซึ่งจะใช้พื้นที่ที่เวนคืน และชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบ ยืนยันว่าฟลัดเวย์มีความจำเป็นในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมยกตัวอย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เพราะมีการขุดคลอง ร.1 ดังนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีการทำฟลัดเวย์และเห็นว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นหนึ่งในโครงการที่ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ เพราะได้ใช้ทั้งน้ำ ไฟฟ้า ถนนและที่ดิน

ขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการฯ ขอความมั่นใจว่า การสร้างฟลัดเวย์จะไม่ทำให้จังหวัดอุทัยธานีได้รับผลกระทบ เพราะไม่มั่นใจว่าฟลัดเวย์จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง ตรงกันข้าม หากจังหวัดอุทัยธานีได้รับผลกระทบแต่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศได้จริงก็พร้อมยอมรับ

ด้านตัวแทนชาวบ้าน อาทิ นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี เห็นด้วยหากจะก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ชาวอุทัยธานีต้องได้รับผลประโยชน์มากกว่าที่ผ่านมา เพราะช่วงหน้าแล้งไม่เคยได้รับการผันน้ำ แต่เมื่อหน้าฝนกลับต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ ขณะเดียวกันตำหนิการลงพื้นที่ของ กบอ.ที่ไม่ประสานชาวบ้านในพื้นที่ล่วงหน้าและข้อมูลที่ชี้แจงต่อชาวบ้านไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างสาธารณูปโภค










กำลังโหลดความคิดเห็น