xs
xsm
sm
md
lg

ลีสซิ่ง “เอม” บริจาคเพื่อไทย 9.1 ล้าน เช่าซื้อเฉพาะชินคอร์ป ปชป.ลงขัน ส.ส.1.46 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อมูลบริษัท โอเอไอ ลีสซิ่ง จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กกต.เผยบัญชีรายชื่อผู้บริจาคพรรคการเมืองเดือน ส.ค. พบ “โอเอไอ ลีสซิ่ง” บริษัทของเอม-พินทองทา ลูกสาวทักษิณเข้าพรรคเพื่อไทย 9.1 ล้าน ตรวจสอบพบเป็นบริษัทเช่าซื้อรถยนต์เฉพาะชินคอร์ป เอไอเอสเช่ารถ 258 คันประจำสาขา ภายหลังขายหุ้นให้เทมาเส็กระบุไม่เกี่ยวข้อง อีกด้าน ปชป.ลงขัน ส.ส.ได้ 1.46 ล้าน ภูมิใจไทย บริษัทไอทีของ “กังวาล กุศลธรรมรัตน์” หย่อนเงินเข้าพรรค 3 แสน

วันนี้ (29 มี.ค.) เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้บริจาคและจำนวนเงินที่บริจาคให้พรรคการเมือง ประจำเดือน สิงหาคม ปี 2556 ตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป โดยพบว่า พรรคเพื่อไทย มีผู้บริจาค 1 ราย คือบริษัท โอเอไอ ลีสซิ่ง จำกัด ของนางพินทองทา คุณากรวงศ์ (ชินวัตร) บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 9,143,975.44 บาท ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พบว่า มียอดเงินบริจาครวม 1,465,000 บาท โดยเป็นเงินจาก ส.ส.และสมาชิกพรรคตั้งแต่ 5,000 บาท โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์, นายอิสสระ สมชัย, นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค บริจาคมากที่สุดคนละ 30,000 บาท

ทางด้านพรรคมาตุภูมิ มียอดบริจาค 120,000 บาท เป็นเงินของนายจักษ์วัสส์ แสนทะนาทอง 80,000 บาท ซึ่งเมื่อเดือน ก.ค.ก็ได้บริจาคเข้าพรรคเป็นจำนวน 100,000 บาท และนายวิสุทธิ์ พัธโนทัย 40,000 บาท ซึ่งก็ได้บริจาคเข้าพรรคเมื่อเดือน มิ.ย.จำนวน 80,000 บาท พรรคชาติพัฒนา มียอดบริจาค 40,000 บาท โดยนายโกวิทย์ รุ่งเรืองธัญญา พรรคกิจสังคม มียอดบริจาค 5,000 บาท นายเอี่ยม พูลนิติพร พรรคพลังสหกรณ์ มียอดบริจาค 444,500 บาท เป็นเงินของนายอัครนันท์ แย้มอนันต์ชัย 244,500 บาท และนายปรีชา เสธา 200,000 บาท พรรคดำรงไทย มียอดบริจาค 95,000 บาท โดย น.ส.กนกนุช สกุลดีเชิดชู พรรคทวงคืนผืนป่า มียอดบริจาค 1,000,000 บาท โดยนางสุเนตรา โชติมงคล พรรคภูมิใจไทย มียอดบริจาค 300,000 บาท โดยบริษัทไอที ดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟท์แวร์,นำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ต่อพ่วง,ขายส่งและส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มีนายกังวาล กุศลธรรมรัตน์ เป็นคณะกรรมการร่วมกับ นายนที กิตติวิทย์เชาวกุล และนายดล เหตระกูล ส่วนพรรคประชาสันติ มียอดบริจาค 5,000 บาท โดย น.ส.พชรศศิ ช่างพิมพ์

มีรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท โอเอไอ ลีสซิ่ง จำกัด ของ น.ส.พินทองทา พบว่า ก่อตั้งวันที่ 17 ตุลาคม 2534 ธุรกิจเช่าซื้อ ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ณ วันที่ 29 เมษายน 2553 มี น.ส.พินทองทา ชินวัตร ถือหุ้น 22.4% จำนวน 2,249,900 หุ้น มูลค่า 22,499,000 บาท รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท ที่ตั้ง 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร (เป็นที่ตั้งของอาคารอินทัช หรือ อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 1 เดิม) มีคณะกรรมการบริษัท ได้แก่ นายชานนท์ สุวสิน อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร

ทั้งนี้ รายงานประจำปี 2549 ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส หัวข้อ รายการระหว่างกันกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง พบว่า เอไอเอส และบริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด หรือเอดีซี เช่ารถยนต์จากบริษัท โอเอไอ ลีสซิ่ง จำกัด ซึ่งกลุ่มครอบครัวชินวัตรถือหุ้นร้อยละ 45.00 เพื่อใช้งานประจำสาขาต่างๆ จำนวนรวม 258 คัน ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็นของการทำรายการนั้น ระบุว่า เป็นบริษัทลีสซิ่ง (ธุรกิจเช่าซื้อ) ที่ให้บริการเช่าเฉพาะบริษัทในเครือ และราคาเทียบเคียงกับบริษัทลีสซิ่งอื่น รวมทั้งมีบริการที่ดีและรวดเร็ว

โดยงวดสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2548 โอเอไอ ลีสซิ่ง มีรายได้จากการให้บริการโดยคิดเป็นมูลค่ารายการระหว่างกัน งบการเงินเฉพาะ 0.02 ล้านบาท งบการเงินรวม 0.02 ล้านบาท ค่าเช่าและค่าบริการอื่นๆ งบการเงินเฉพาะ 37.06 ล้านบาท งบการเงินรวม 44.75 ล้านบาท และเจ้าหนี้การค้า มีเฉพาะงบการเงินรวม 0.07 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการขายหุ้นชินคอร์ปฯ มีค่าเช่าและค่าบริการอื่นๆ งบการเงินเฉพาะ 3.27 ล้านบาท และงบการเงินรวม 3.92 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลรายงานประจำปีของปี 2550 เป็นต้นมา ไม่พบว่ามีบริษัท โอเอไอ ลีสซิ่ง อยู่ในรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ และบริษัทย่อยอีกเลย

อีกด้านหนึ่ง เมื่อตรวจสอบ รายงานประจำปี 2549 ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พบว่าในหัวข้อ “รายงานระหว่างกัน” ในหัวข้อย่อย “รายการระหว่างกันที่สำคัญกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง” ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ครอบครัวชินวัตรซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักได้ขายหุ้นสามัญในส่วนที่ถืออยู่ในบริษัททั้งหมดร้อยละ 49.60 ของทุนที่ชำระแล้ว ให้แก่ Cedar และ Aspen ทำให้ครอบครัวชินวัตรและกิจการที่เกี่ยวข้องกันกับครอบครัวชินวัตรไม่เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ นับจากวันที่ขายหุ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เปิดเผยรายการระหว่างกันกับครอบครัวชินวัตรจนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2549

Aspen เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยและเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ Temasek Cedar เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยซึ่งถือหุ้นโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 5.8 บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด (“กุหลาบแก้ว”) ร้อยละ 45.2 และบริษัท ไซเพลส โฮลดิ้ง จำกัด (“ไซเพลส”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ Temasek ร้อยละ 49.0 กุหลาบแก้วถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นหลักสี่รายซึ่งได้แก่ ไซเพลส ร้อยละ 29.9 คุณสุรินทร์ อุปพัทธกุล ร้อยละ 68.0 คุณพงส์ สารสิน ร้อยละ 1.3 และคุณศุภเดช พูนพิพัฒน์ ร้อยละ 0.8 ซึ่งรายการที่บริษัทฯ มีกับบริษัทในกลุ่ม Cedar และ Aspen และกลุ่ม Temasek จะถือเป็นรายการกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

และเมื่อพลิกไปที่หน้า 83 พบว่า มีอยู่หัวข้อหนึ่งระบุว่า “เนื่องจากบริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นกิจการที่เกี่ยวข้องกันกับครอบครัวชินวัตร (กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม) จึงไม่เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ นับจากวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549” อย่างไรก็ตามบริษัทฯ เปิดเผยรายการระหว่างกันกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมจนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2549 โดยได้แบ่งออกเป็น 6 บริษัท ได้แก่ 1. บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งชินคอร์ปฯ เช่าพื้นที่สำนักงานในอาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต 2. บริษัท เอสซี ออฟฟิซ ปาร์ค จำกัด (SOP) ซึ่งชินคอร์ปฯ เช่าพื้นที่สำนักงานในอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 1 และ 2 ถนนพหลโยธิน 3. บจ. ประไหมสุหรี พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งบริษัทย่อย เช่าอาคาร Thaicom Teleport & DTH Center ที่ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อใช้เป็นสถานีให้บริการภาคพื้นดินและเป็น Backup Station ของสถานีดาวเทียมไทยคม รัตนาธิเบศร์ 4. บริษัท ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งให้บริการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ 5. ธนชาตประกันภัย ซึ่งบริษัทย่อย จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพื่อป้องกัน ความเสี่ยงจากความเสียหายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

และ 6. บริษัทอื่นๆ ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมเป็นผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บจ. โอเอไอ แมนเนจเม้นท์ บจ. โอเอไอ ลีสซิ่ง และบจ.เวิร์ธ ซัพพลาย โดยทั้ง 3 บริษัท ชินคอร์ป เช่าพื้นที่สำนักงานใช้บริการสถานที่ รถยนต์และบริการต่างๆ จากบริษัทในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม ทั้งนี้ ได้ระบุความสมเหตุสมผลของการทำรายการ และนโยบายการกำหนดราคา ว่ากลุ่มบริษัทฯ ได้ใช้บริการตามปกติเช่นเดียวกับที่กลุ่มบริษัทฯ ใช้บริการกับบุคคลอื่นโดยค่าบริการคิดในอัตราใกล้เคียงกับราคาตลาด


นางพินทองทา คุณากรวงศ์ (ชินวัตร) บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2549 ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)
ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2549 ของ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ปฯ หรือ อินทัชในปัจจุบัน)
กำลังโหลดความคิดเห็น