“ประชา” ยันประกันราคายางกิโลฯ ละ 100-120 บาทตามข้อเรียกร้องของม็อบควนหนองหงษ์ไม่ได้ เหตุเข้าทางบริษัทยาง 135 แห่ง ตุนไว้ฟันกำไรหากรัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง เร่งสอบมีบริษัทใดเอี่ยวม็อบหรือไม่
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมของเกษตรกรชวนสวนยางที่ แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ว่าเรื่องนี้รัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลช่วยได้ และได้ให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เป็นผู้ให้ข้อมูลกับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรทั่วประเทศก็ให้การยอมรับ อาจมีเกษตรกรที่แยกควนหนองหงษ์ยังไม่เข้าใจการช่วยเหลือของรัฐบาลอยู่บ้าง ซึ่งก็ได้ให้นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และกระทรวงกระเกษตรและสหกรณ์ ไปทำความเข้าใจเพิ่มเติม โดยในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.) ก็จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรใน จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานีแล้ว ซึ่งมีเกษตรกรที่ขึ้นบัญชีและจะได้รับเงินช่วยเหลือหลายพันคน
“ข้อเรียกร้องที่มีการเสนอ ขอราคายางที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถช่วยได้ เพราะได้มีข้อสรุปไปแล้วว่าจะช่วยเหลือราคายางที่กิโลกรัมละ 90 บาท ตามวิธีการของรัฐบาล ถือว่าจบไปแล้ว สกย.ทั่วประเทศก็ยอมรับ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อการชุมนุมยังดำเนินอยู่และดูเหมือนว่าจะไม่รับฟังมาตรการของรัฐบาล มีแนวทางดำเนินการอย่างไรต่อไป พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า การชุมนุมถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ ซึ่งเราจะเน้นเรื่องความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ชุมนุมเป็นหลัก แต่ถ้าหากเกินเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนการทำความเข้าใจก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่รับข้อเสนอของรัฐบาลแล้ว มีการไปลงทะเบียนถึงร้อยละ 80 แล้ว ดังนั้นผู้ชุมนุมก็ควรจะยุติได้แล้ว
สำหรับเส้นทางคมนาคมที่มีการปิดอยู่นั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดูแล แต่ได้เน้นย้ำว่าไม่ให้เกิดการปะทะกัน เพราะจะมีผู้บาดเจ็บ ไม่อยากให้เหตุเกิดซ้ำรอยขึ้นมาอีก ส่วนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครองติดตามอย่างต่อเนื่อง พยายามให้อยู่ในกรอบไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจนเกินไปนัก เพราะตอนนี้ก็เดือดร้อนจากการปิดถนนแล้ว
“เราก็อยากให้ยุติการปิดถนน แต่ถ้าเข้าไปยกเต้นยกของออกก็จะเกิดการปะทะอีก แล้วจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำอย่างไร ทางผู้ชุมนุมก็ไม่มีแกนนำเป็นตัวเป็นตน เราก็ไม่ทราบจะคุยกับใคร แต่ถ้าเขาจะส่งตัวแทนมาเพื่อพูดคุยทางเราก็พร้อม ส่วนคนที่มีหมายจับก็ดำเนินการกันไปตามขั้นตอน” พล.ต.อ.ประชากล่าว
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า มีนายทุนยางพารารายใหญ่ให้การสนับสนุนการชุมนุม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า มีข้อมูลว่าบริษัทยางใหญ่ๆ สต๊อกยางไว้จำนวนมาก ซึ่งการเก็บยางไว้จำนวนมากเช่นนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการเกื้อกูล เพราะเมื่อมีการประกันราคาขึ้นมา บริษัทเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์ ตรงจุดนี้จึงทำให้การชุมนุมยุติยาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจอย่างละเอียด ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะว่านายทุนไม่ขายยางพาราออกไป เนื่องจากต้องการให้รัฐบาลประกันราคา ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือโรงงาน ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยางพารารายใหญ่ แต่เกษตรกรนั้นได้รับการช่วยเหลือพอใจแล้ว มีแต่ที่ควนหนองหงษ์เท่านั้นที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติม
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบในทางลับว่าใครอะไรอย่างไร แต่เรารู้แล้วว่าเป็นบริษัทไหนใน 135 บริษัท ว่าแต่ละบริษัทเก็บยางไว้เท่าไร และจะเร่งให้การตรวจสอบแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทยางพาราที่มีการสต๊อกยางพารา มีทั้งสิ้น 135 บริษัท โดยมีทั้งที่อยู่ในภาคใต้ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออก และมีจำนวนยางที่สต๊อกไว้ทั้งสิ้น 340,891,651 กิโลกรัม