สบอช.แจงพายุอูตอร์ไม่น่าวิตก น้ำไม่ล้นเขื่อน ปริมาณสะสมน้อยกว่าปีน้ำท่วม 2554 อยู่ 16.4% เตือน 13-18 ส.ค.นี้ฝนยังปกคลุมทุกภาค ขณะที่ปลายเดือน ส.ค.ไทยจะเจอพายุอีก 1-2 ลูก
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (13 ส.ค.) นายพิพัฒน์ เรืองงาม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) นายชัยชาญ สิทธิวรนันท์ ผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน ร่วมแถลงภายหลังประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นอูตอร์
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ยังมีที่ว่างมากพอสำหรับรับปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดจากพายุหรือร่องความกดอากาศได้โดยน้ำไม่ล้นเขื่อน โดยภาคเหนือจะมีฝนตกหนักประมาณวันที่ 13, 17, 18 ส.ค. โดยจังหวัดที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ จ.เชียงราย ตาก น่าน อาจเกิดดินโคลนถล่ม
ส่วนภาคอีสานตอนบน จะมีฝนตกหนักประมาณวันที่ 15-18 ส.ค. โดยเฉพาะที่ จ.นครพนม บึงกาฬ, อีสานตอนล่าง จะมีฝนตกหนักประมาณวันที่ 13-16 ส.ค. โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ, ภาคกลางจะมีฝนตกหนักประมาณวันที่ 14-15 ส.ค., ภาคตะวันออกจะมีฝนตกหนักประมาณวันที 13-16 โดยเฉพาะจ.จันทบุรี ตราด สระแก้ว, ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนักประมาณวันที่ 14-15 ส.ค. ส่วนวันที่ 18 เฉพาะพื้นที่ตอนบน และภาคตะวันออกจะมีฝนตกหนักประมาณวันที่ 13-15, 18 ส.ค.
ด้านนายชัยชาญกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง 1-2 ลูก ซึ่งจะเคลื่อนตัวเข้ามาในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ แต่ผลที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากร่องมรสุม และกลายเป็นฝนตกสะสม ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังกันต่อไป ส่วนพายุอูตอร์นั้นมีศูนย์กลางอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน และกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือและคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีนในวันพรุ่งนี้ และวันที่ 15 ส.ค.จะเคลื่อนที่ขึ้นทะเลจีนใต้ แต่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางยังพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
นายเลิศชัยกล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันรวม 878.5 มิลลิเมตร มากกว่าปีที่แล้ว 13.78 มิลลิเมตร หรือมากกว่า 1.59 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบันน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่โดยเฉพาะในภาคเหนือ อย่างเขื่อนภูมิพล มีน้ำ 32 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนสิริกิตติ์มีน้ำ 42 เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำ 14 เปอร์เซ็นต์ของความจุ แต่เมื่อสำรวจทั้งหมดทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 37,504 ล้านลบ.ม. หรือประมาณ 54.5 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าปีที่แล้ว 5.7 เปอร์เซ็นต์ และน้อยกว่าปี 54 ซึ่งเกิดน้ำท่วม 16.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางนั้น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 2,346.9 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53.6 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าปีที่แล้ว 18.26 เปอร์เซ็นต์ ส่วนน้ำในแม่น้ำสายสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในภาวะน้อย แต่ที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน คือเกิดในภาวะน้ำมาเร็วไปเร็ว และลำน้ำกก จ.เชียงราย และลำน้ำเมย ใน อ.แม่สอด จ.ตาก รองรับปริมาณได้น้อย หรือ 150-200 ลบ.ม. แต่ปริมาณน้ำที่มาคือ 300 ลบ.ม. เลยทำให้เกิดน้ำท่วม