วิปฝ่ายค้านประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ปชป.แถลงไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เชื่อไม่ทำให้ประเทศปรองดองจริง ส่วนพรรคภูมิใจไทยขอหารือในที่ประชุมพรรค 31 ก.ค.นี้ก่อน ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านเล็งตั้งกระทู้จี้รัฐบาลหาคนผิดทำท่อน้ำมันรั่ว และความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ จ.ระยอง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านกว่า 3 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมหารือกรณีที่จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจากการตรวจสอบในวาะรการประชุมพบว่า ขณะนี้มีทั้งหมด 7 ฉบับ โดย 4 ฉบับแรกเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ค้างอยู่ในสภาฯ และอีก 2 ฉบับเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และฉบับที่ 3 เป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน แต่ขณะนี้มีแนวโน้มว่าฝ่ายรัฐบาลจะนำร่างกฎหมายของนายวรชัย และนายนิยม เข้าสู่สภาฯ โดยการเลื่อนฉบับของนายวรชัยขึ้นมาเข้ามาเป็นวาระแรกตั้งแต่สมัยการประชุมที่แล้ว ซึ่งหากสภาฯ พิจารณาทั้ง 2 ฉบับนั้น วิปฝ่ายค้านมีมติไม่รับหลักการกฎหมายดังกล่าว เนื่องจาก 1. เป็นกฎหมายทำลายระบบนิติรัฐ หลักนิติธรรมประเทศ 2. เป็นการนิรโทษกรรมจะล้างผิดให้ผู้ทำผิดในคดีก่อการร้าย การเผาสถานที่ราชการ เอกชน การกระทำผิดต่อชีวิตร่างกาย การฆ่าคนตายและผู้การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 3. ถ้ากฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ จะเป็นหัวเชื้อนำไปสู่การนิรโทษกรรมแบบยกเข่งหรือสุดซอยได้
4. การที่จะนิรโทษกรรมแบบยกเข่งได้ ไม่ได้นำประเทศสู่ความปรองดองตามที่รัฐบาลโฆษณา แต่จะสร้างความแตก เพราะขณะนี้มีสัญญาณเริ่มปรากฏประชาชนไม่เห็นด้วยได้ประกาศชุมนุมต่อต้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ 5. กฎหมายฉบับนี้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แต่การออกกฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนที่ทำความผิดใกล้เคียงกันได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน
นายจุรินทร์กล่าวว่า วันที่ 1 ส.ค.นี้ การประชุมสภาฯ นัดแรก แม้วิปรัฐบาลยืนยันจะไม่ลักไก่พิจารณากฎหมายฉบับนี้ แต่ฝ่ายค้านไม่ประมาทและเตรียมมาตราการต่างๆ ไว้รองรับแล้ว ทั้งนี้ การประชุมสภาฯ ในวันพฤหัสบดีจะไม่มีการพิจารณากฎหมาย แต่หากมีการหยิบยกขึ้นมาก็จะต้องใช้วิธีพิสดารอย่างมาก สภาฯ ก็ยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ส่วนสถานการณ์การชุมนุมนั้น วิปฝ่ายค้านไม่ได้ประเมินอะไร แต่เห็นว่าในขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลต้องใช้กฎหมายพิเศษมาควบคุมการชุมนุม
ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า สำหรับกระทู้ถามสด เรื่องการจ่ายค่าทำศพตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุของพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากในปี 2557 รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณดังกล่าวเอาไว้ และเรื่องท่อน้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง ของพรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเรื่องนี้นอกจากจะกระทบสภาพแวดล้อมแล้วยังกระทบต่อการท่องเที่ยวใน จ.ระยอง ด้วย แต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ จึงคิดว่าเป็นการจัดการหนีสภาอย่างเป็นระบบ จึงต้องฟ้องประชาชนให้รับทราบพฤติกรรมนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ มติไม่รับหลักการนั้นจะมีมติเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ก่อน ส่วนพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่าจะขอหารือในที่ประชุมพรรควันที่ 31 ก.ค.นี้