xs
xsm
sm
md
lg

“บุญยอด” หวั่นข้าวเก่าค้างสต๊อกปนสู่ตลาด จี้ อคส.แจง ชี้ จำนำผลาญงบ-ภาษีปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
อนุ กมธ.ไอซีทีจาก ปชป. เห็นควรลดงบปี 57 อคส.ที่ใช้รักษาข้าวสาร 500 ล้าน จาก 9 พันล้านที่สูงกว่าปีก่อน 4 พันล้าน แถมพบข้าวค้างสต๊อกตั้งแต่ปี 51 ทั้งทีของบจัดการ บี้แจงปนข้าวที่ขายหรือไม่ ตอกจำนำข้าวค่าจัดการต่อปีสูงผลาญเงินเกือบแสนล้าน ปชช.จ่ายดอกเบี้ยให้ธ.ก.ส.กว่า 6 พันล้าน ติงเก็บข้าวนานคุณภาพลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

วันนี้ (12 ก.ค.) นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะอนุกรรมาธิการไอซีที รัฐวิสาหกิจและกองทุน เปิดเผยถึงการชี้แจงขององค์การคลังสินค้าเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในการเก็บรักษาข้าวสาร ซึ่งมีการของบในปี 2557 จำนวน 9,001 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วถึงเกือบ 4 พันล้านบาท โดยในปีงบ 2556 มีการใช้งบประมาณ 5,181 ล้านบาท ในขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายจำกัดการช่วยเหลือชาวนาจากโครงการรับจำนำ โดยกำหนดครัวเรือนละไม่เกิน 5 แสนบาท จึงเห็นว่าควรปรับลดการของบในปี 2557 ลงมา ซึ่งได้ปรับลดไว้ 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่ามีข้าวที่ค้างสต๊อกตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2551 ค้างอยู่ ซึ่ง อคส.ของบไปบริหารจัดการในปี 2556 วงเงิน 315 ล้านบาท และในปี 2557 ยังของบอีก 67 ล้านบาท แสดงว่ามีข้าวเก่านาน 5 ปี ค้างอยู่ในสต๊อกจากการรับจำนำของรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องมีคำตอบเกี่ยวกับข้าวเสื่อมสภาพด้วยว่ามีการนำไปปะปนกับข้าวดีแล้วมีการนำออกมาระบายสู่การตลาดหรือไม่

นายบุญยอดกล่าวด้วยว่า โครงการรับจำนำข้าวนอกจากจะทำให้รัฐบาลขาดทุนมหาศาลจากการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดแล้ว ยังมีค่าบริหารจัดการโครงการที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงในทุกขั้นตอน โดยในส่วนของ อคส.เฉพาะในการเก็บรักษาข้าวที่ขอในปี 2557 เป็นเงิน 1,429 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าบริหารของ อคส.อีก 1,080 ล้านบาท เท่ากับค่าดำเนินการในการบริหารโครงการของ อคส.ต้องใช้เงินถึง 2,509 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลยังต้องจ่ายค่าดำเนินโครงการให้กับ ธ.ก.ส.รวมดอกเบี้ยในงบปี 2557 อีก รวม 82,861 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายเดิกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. 2.982% ปัจจุบันตามมติ ครม.ให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 90,000 ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติ ธ.ก.ส.ใช้เงินไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งหากคำนวณดอกเบี้ยเท่ากับว่า ต้องใช้ภาษีประชาชนจ่ายป็นค่าดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.ถึง 6,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันอีก 410,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้โดยไม่ทราบว่าแต่ละแหล่งต้องเสียเงินกู้เท่าไหร่

ขณะที่ข้าวสารยิ่งเก็บไว้นาน มูลค่าก็จะยิ่งลดลงเนื่องจากน้ำหนักของข้าวจะหายไป 0.5% หากเก็บรักษาภายใน 6 เดือน และไม่เกิน 1% หากเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน อีกทั้งยังมีค่าตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร ค่าขนข้าว ค่าแปรสภาพ ค่าเช่า ค่าประกันภัย และการรักษาคุณภาพข้าวสารด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น