รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ เชื่อคลิปเสียงฉาวไม่กระทบสัมพันธ์พม่า บอกถ้ามีอะไรทูตแจ้งมาแล้ว ยันไม่ต้องแจง รอดีเอสไอแจ้งมาก่อนค่อยถอดพาสปอร์ต “เณรคำ” อ้างถ้าพบตรงกับระเบียบก็ทำได้ ไม่รู้หนีเข้ามะกันแล้ว โบ้ยไม่ใช่หน้าที่ตามจับ
วันนี้ (10 ก.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปเสียงซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงข้าราชการระดับสูงและฝ่ายบริหารบางคนของประเทศพม่า ต่อโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงโครงการดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้ นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ เข้าพบและหารือกับประธานฝ่ายพม่า เพื่อหารือถึงการอพยพคนที่ทวาย ซึ่งเป็นงานส่วนที่กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าว ทั้งฝ่ายไทยและพม่าต่างก็ได้รับผลประโยชน์ ดังนั้นการพัฒนาร่วมกันก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไป
“ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศก็เป็นไปด้วยดีมาตลอด และไม่มีการสอบถามใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ หากมีอะไรทางสถานทูต ก็ต้องแจ้งมาแล้ว กระทรวงการต่างประเทศเองจึงไม่จำเป็นต้องชี้แจงอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรากังวลกันมากเกินไป” นายสุรพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ประสานสำนักงานพระพุทธศาสนาให้มีการถอนหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตของ พระวิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ ประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรมนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่มีหน้าที่ไปติดตามเรื่องจากข่าว แต่หากหน่วยงานใดต้องการให้ถอนหนังสือเดินทางก็ให้มีหนังสือแจ้งมา เมื่อได้รับหนังสือแจ้งแล้วจะตรวจสอบว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎระเบียบของกระทรวงที่มีเป็นอย่างไร หากสอดคล้องกับกฎระเบียบก็จะดำเนินการให้ แต่ถ้าไม่สอดคล้องก็ไม่สามารถทำได้
นายสุรพงษ์ ยังได้กล่าวถึง กรณีที่มีกระแสข่าวว่า พระวีรพล ได้เดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วด้วยว่า ไม่อาจทราบได้ และไม่ทราบว่าเณรคำมีวีซ่าสหรัฐหรือไม่ ทั้งนี้การติดตามตัวบุคคลไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ แต่เป็นเรื่องที่ตำรวจสามารถประสานกับตำรวจสากลให้ช่วยติดตามได้อยู่แล้ว
รมว.ต่างประเทศ อธิบายต่อว่า ขั้นตอนการออกหนังสือเดินทางให้แก่พระภิกษุ สามเณรในพุทธศาสนานั้น มหาเถรสมาคมจะต้องมีหนังสือนำให้พระภิกษุ สามเณร ถือไปแสดงต่อกรมการกงสุล เพื่อขอออกหนังสือเดินทาง และเมื่อมหาเถรสมาคม หรือหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ในกรณีนี้ดีเอสไอเห็นควรเพิกถอนหนังสือเดินทางของพระภิกษุ สามเณร รูปนั้นๆ จะต้องมีหนังสือแจ้งกรมการกงสุลเพื่อขอยกเลืกหนังสือเดินทาง ซึ่งกรมการกงสุลจะต้องพิจารณาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกหนังสือเดินทาง ว่าเข้าองค์ประกอบใดหรือไม่อย่างไร