“ยิ่งลักษณ์” ฝาก “ฮุน เซน” พิจารณาโอนตัวนักโทษไทย “วีระ” ส่อแห้วเหตุรับโทษยังไม่ถึงเกณฑ์ ไม่พลาดดอดคุยนายกฯเขมรตั้งคณะทำงานไทย-เขมร ร่วมพัฒนาแนวชายแดน คืนความสงบในพื้นที่
วันนี้ (4 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากกัมพูชาในช่วงค่ำ หลังเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระวรราชบิดาแห่งกัมพูชา วันนี้ว่า วัตถุประสงค์ของการไปครั้งนี้เพื่อร่วมงานพระราชพิธีมีผู้นำหลายประเทศเข้าร่วมงาน ตนและคณะได้รับพระราชทานโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้านโรดมสีหมุนี และพระมารดา นอกจากนี้ยังมีโอกาสหารือข้อราชการกับสมเด็จฯ ฮุน เซน โดยประเด็นแรก ตนได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสวรรคต และในนามของรัฐบาลไทยได้ขอขอบคุณรัฐบาลกัมพูชา ที่ได้พระราชทานอภัยโทษให้แก่ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ และลดโทษให้นายวีระ สมความคิด ขณะเดียวกัน ได้ฝากรัฐบาลกัมพูชาในการโอนตัวนักโทษไทยเข้ามารับโทษที่ประเทศไทย
ทั้งนี้ เรายังมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานงานระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายแดน ให้เป็นพื้นที่ที่มีความสงบ ประชาชนทั้งสองฝั่งมีความราบรื่น สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ รวมทั้งการส่งเสริมการค้าระหว่างแนวชายแดน ซึ่งกัมพูชาก็มีความเห็นชอบตามที่ไทยเสนอในการตั้งคณะทำงาน เพื่อที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน รวมทั้งการกำหนดโครงสร้างการทำงาน เชื่อมโยงกัน รวมทั้งการเปิดด่าน ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้ที่ตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะอยากเห็นความเข้าใจอันดี และความสงบในพื้นที่ เป็นที่ตั้ง รวมถึงการประสานต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน รวมทั้งการละเว้น หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะระหว่างประชาชนต่อประชาชน และที่ไม่สอดคล้องกับเอ็มโอยู 43
เมื่อถามว่าการยึดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองประเทศนั้น รวมถึงกรณีประสาทพระวิหารด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เจตนารมณ์ของสองประเทศนั้นตรงกันในการหารือและแก้ไขปัญหาระหว่างกัน ลดความขัดแย้ง ซึ่งเราก็จะหลีกเลี่ยงประเด็นดังกล่าวที่ไม่สอดคล้องกับเอ็มโอยู 43 การตั้งคณะกรรมการก็จะให้ทุกภาคส่วนไปหารือกัน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ และเราต้องมีกลไกในการทำงานร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยจะใช้กลไกดังกล่าวนี้เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
เมื่อถามว่า กรณีที่มีการให้โอนตัวนักโทษไทยในกัมพูชามารับโทษในประเทศไทยนั้นจะรวมนายวีระด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ที่จริงแล้วเราก็ขอหมด แต่ก็ต้องอยู่ที่เงื่อนไขของทางกัมพูชา เพราะตามหลักของนายวีระ ตามขั้นตอนต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อน และต้องพิจารณาที่ฐานความผิด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาก็รับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในทุกครั้งถ้ามีโอกาส ที่ผ่านมาในกรณีของ น.สราตรี และนายวีระ ในความจริงแล้วก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ แต่เนื่องจากในโอกาสครั้งนี้ก็ถือโอกาสที่รัฐบาลกัมพูชาได้อภัยโทษให้ น.ส.ราตรี ก่อนเพราะอยู่ในระยะที่สั้นกว่า ซึ่งนายวีระก็ได้รับการลดโทษไป