ผ่าประเด็นร้อน
ธรรมชาติของนักการเมือง-พรรคการเมือง หน้าด้านฉวยโอกาสโหนกระแสสร้างราคาให้ตัวเอง ยามเมื่อสบโอกาสได้ทุกเรื่อง
จึงอย่าได้แปลกใจที่โฆษกสองพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างจะออกมาแสดงความยินดีกับการเดินทางกับประเทศไทยของ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ เมื่อช่วงดึก คืนวันศุกร์ที่ 1 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา หลังยอมติดคุกในกัมพูชา เพื่อยืนหยัดในการเคลื่อนไหวของตัวเองในเรื่องการปกป้องอธิปไตยของประเทศ
จากเหตุที่เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พร้อมคนไทยอีก 5 คน อาทิ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวขณะลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่บริเวณบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว
ต่อมาศาลพนมเปญได้ให้ประกันตัวคนไทยผู้ถูกจับกุม ยกเว้น นายวีระ และน.ส.ราตรี โดยให้เหตุผลว่ามีการเข้ามาจารกรรมข้อมูล แต่ทั้งสองคนยืนยันปฏิเสธข้อหาดังกล่าว
1 ก.พ. 54 ศาลชั้นต้นกัมพูชานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายวีระ และ น.ส.ราตรีเป็นจำเลย โดยถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ เข้าเมืองผิดกฎหมาย, เข้าพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และประมวลข้อมูลอันเป็นภัยต่อการป้องกันประเทศ หรือจารกรรมข้อมูล
ศาลกัมพูชาตัดสินคดีจำคุกนายวีระ 8 ปี ปรับ 1 ล้าน 8 แสนเรียล และจำคุก น.ส.ราตรี 6 ปี ปรับ 1 ล้าน 2 แสนเรียล ไม่รอลงอาญา
ที่พรรคประชาธิปัตย์ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขอแสดงความยินดีกับ น.ส.ราตรี ที่เดินทางกลับมาไทยแล้ว พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรีบช่วยเหลือนายวีระ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเปรยซอร์
ส่วนพรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวสำทับว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึง “ความจริงใจของรัฐบาลในการช่วยเหลือคน” ที่แม้จะเห็นได้ชัดว่ามีความเห็นแตกต่างทางการเมือง แต่ก็ไม่วายทำเป็นพูดไปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นอุทาหรณ์ซึ่งต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปของสาเหตุของการที่วีระ-ราตรี ถูกจับตัวด้วย
ลมปากนักการเมืองที่ชอบฉกฉวยสถานการณ์สร้างภาพให้กับตัวเองเช่นนี้ อย่าไปให้ราคามาก เพราะหากพิจารณากันถึงความจริงใจ และเทคนิกการต่อรองทางการทูตเพื่อช่วยเหลือ วีระ-ราตรี แล้ว
ก็จะเห็นได้ว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นรัฐบาล รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลเวลานี้ ว่ากันตามจริงดูจะขับเคลื่อนเรื่องนี้แบบล่าช้า และไม่แสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือทั้งสองคนเต็มร้อยเปอร์เซนต์
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จริงอยู่ว่าแม้ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ กษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศในช่วงเกิดเหตุ พยายามแสดงออกว่าช่วยเหลือเต็มที่ทุกวิถีทางแล้ว แต่ติดขัดเรื่องการเจรจาความอะไรบางอย่าง เพราะวีระ-ราตรี ก็มีจุดยืนของตัวเองชัดเจน
รวมถึงที่สำคัญใครๆ ก็รู้ว่า ฮุน เซน ผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในกัมพูชา ไม่ชอบหน้าจนถึงขั้นเกลียดอภิสิทธิ์ กับกษิต เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเจรจาช่วยเหลือสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยก็จะพบว่า ครอบครัวของวีระได้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือไปตั้งแต่สมัยเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านแล้ว เพราะคนไทยและกัมพูชาต่างก็รู้ดีว่า ฮุน เซน มีความสัมพันธ์อันดีกับ ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการช่วยเหลือ
จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ก็ยังพบว่าการติดต่อช่วยเหลือตรงนี้ก็แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำรัฐบาล-ส.ส.เพื่อไทย เคยยกคณะไปร่วมฉลองสงกรานต์กันถึงเมืองเสียมราฐ เมื่อสงกรานต์ปีที่แล้ว แต่การช่วยเหลือกลับไม่มีข่าวสารใดๆออกมา
เอาเถอะ มาตอนนี้ เมื่อ น.ส.ราตรีได้รับอิสรภาพแล้ว เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ก็เป็นเรื่องน่ายินดี ทว่าคนไทยก็ต้องแยกกันให้ออก เพราะแม้เรื่องนี้ ฮุน เซน อาจได้แต้มอยู่บ้างที่มีการปล่อยตัวราตรี และลดโทษวีระให้ด้วย ทั้งที่สองคนนี้มีจุดยืนการต่อสู้เรื่องการต่อต้านการรุกล้ำดินแดนไทยบริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหารของทหารกัมพูชาแบบสุดขั้ว แต่ฮุน เซน ก็ยังให้มีการปล่อยตัวราตรี และลดโทษวีระ จนทำให้ดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับกัมพูชาดีขึ้น
แต่กับเรื่องการต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหารในชั้นศาลโลกและการร่วมกันสอดส่อง ไม่ให้ทหารเขมรแอบรุกล้ำเข้ามายังผืนแผ่นดินไทยอันเป็นการละเมิดข้อตกลง MOU 43 เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่ากัมพูชามีการฝ่าฝืนเอ็มโอยู 43 โดยมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างคือ กระต๊อบข้างวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระประมาณ 2 หลัง แม้กองกำลังสุรนารีได้ทำหนังสือประท้วงถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มีการื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากกัมพูชา
จึงเป็นสิ่งที่คนไทยและรัฐบาลไทยต้องร่วมใจกันเต็มที่ เพื่อไม่ให้ไทยพลาดท่าเขมรเป็นครั้งที่ 2 ในการสู้คดีที่ศาลโลก
ถึงตอนนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำก็คือ การต้องพยายามหาช่องทางช่วยเหลือนายวีระต่อไป เพราะมีการเปิดเผยแนวทางออกมาแล้วว่า รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ เพื่อทำให้นายวีระได้รับอิสรภาพเร็วขึ้น หรือถูกโอนตัวกลับมารับโทษที่ประเทศไทย ด้วยวิธีการทางการทูตที่ทำได้ 2 วิธี คือ
1. เจรจารัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้ลดโทษมากที่สุด เพื่อให้มีการรับโทษ 2 ใน 3 ของโทษทั้งหมดให้ได้ เพราะเมื่อเข้าเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้
2. ลดโทษลงถึงเกณฑ์ที่จะมีการการโอนตัวนักโทษมารับโทษในไทย ก็ต้องรอดูกันว่า กระทรวงการต่างประเทศโดย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
อย่างไรก็ดี คำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ราตรี ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 1 ก.พ. 56 ที่กล่าวตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนหลังได้รับอิสรภาพกลับไทยว่า
“ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะนายวีระยังติดอยู่ที่กัมพูชา แต่ยืนยันว่า 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรผิด”
เป็นการพูดที่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ควรตระหนักว่า ภารกิจในการช่วยเหลือวีระ และคอยสนับสนุนทีมกฎหมายของไทยในการสู้คดีที่ศาลโลก กระทรวงการต่างประเทศ ยังคงต้องทำต่อไป และต้องทำให้ดีที่สุดด้วย