xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิตจับตามอง “แก้ รธน.-ปรองดอง-พระวิหาร” ยก “แทรกแซงสื่อ-องค์กรอิสระ” เสี่ยงสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต จัด 10 อันดับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองปี 56 ชี้ ปัจจัยเสี่ยงการเมืองปีนี้ “แก้ รธน.-ออก พ.ร.บ.ปรองดอง-ตัดสินคดีพระวิหาร” ด้านเศรษฐกิจจับตา “ค่าแรง 300-แข่งขันต่างชาติ-หนี้สาธารณะจากโครงการแก้น้ำท่วม-พ.ร.ก.กู้” ส่วนการจัดอันดับเดือน ม.ค.เริ่มมีความเสี่ยงกรณีแทรกแซงองค์กรอิสระ องค์กรของรัฐ และสื่อมวลชน

วันนี้ (13 ม.ค.) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เผยแพร่ 10 อันดับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยในปี 2556 โดยการจัดอันดับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองไทยปี 2556 เป็นการร่วมมือกันทางวิชาการระหว่างคณาจารย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จากหลายมหาวิทยาลัย โดยจะมีการจับตาเฝ้าดูสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างใกล้ชิดและรายงานให้สาธารณชนทราบเป็นประจำทุกเดือน โดยการพิจารณาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมือง เป็นการเลือกเฉพาะประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นร่วมกันว่าสำคัญที่สุด ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ ประเด็นความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจการเมืองทั้ง 10 ประเด็น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังก่อตัวจนอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอไป หากรัฐบาล หน่วยงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ร่วมมือกันป้องกัน และแก้ไขได้สำเร็จ ก็สามารถทำให้ปัญหานั้นกลายเป็นโอกาสของประเทศไทยได้ ตัวอย่างเช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หากทุกฝ่ายร่วมมือกันปรับปรุงผลิตภาพทางด้านแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นการพลิกโอกาสที่สำคัญของประเทศได้ เป็นต้น

โดยการจัดอันดับความเสี่ยง เป็นการเรียงปัญหาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ไปจนถึงปัญหาที่มีความเสี่ยงน้อย จำนวน 10 อันดับ และใช้สี (Color) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงระดับความรุนแรงของปัญหา กล่าวคือ หมายเลข 1 เป็น สีเหลือง มีความหมายเท่ากับ น่าจับตามอง, หมายเลข 2 เป็น สีเหลืองแก่ มีความหมายเท่ากับ เริ่มมีความเสี่ยง, หมายเลข 3 เป็น สีส้ม มีความหมายเท่ากับ มีความเสี่ยงมาก และหมายเลข 4 เป็น สีแดง มีความหมายเท่ากับ มีอันตราย

ในปี 2556 พบว่า ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอันอาจเป็นเหตุให้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มากยิ่งกว่าปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองที่สำคัญที่สุด 3 ประเด็น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อผู้กระทำความผิดทางการเมือง และการตัดสินของศาลโลกกรณีเขาพระวิหาร ส่วนในภาพรวมปีนี้ มีปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอยู่ 5 ประเด็น และเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่ 5 ประเด็นเช่นเดียวกัน แยกเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศ 3 ประเด็น และเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ 2 ประเด็น

ขณะเดียวกัน ในเดือนมกราคม 2556 คณะนักวิชาการประเมินว่า มีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในขณะนี้อยู่ 10 ประเด็น โดยมีประเด็นความเสี่ยงทางด้านการเมือง ที่ถูกจัดให้เป็น สีเหลือง ซึ่งมีความหมายว่าเป็นประเด็นที่ “น่าจับตามอง” แต่สถานการณ์ในขณะนี้ถือได้ว่ายังมีเสถียรภาพอยู่ มี 3 ประเด็นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อผู้กระทำความผิดทางการเมือง และการตัดสินของศาลโลกกรณีเขาพระวิหาร มีประเด็นความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ที่ถูกจัดให้เป็น สีเหลือง คือ “ต้องจับตามองด้วยความระมัดระวัง” อยู่ 3 ประเด็น คือ ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวันทั่วประเทศ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.เงินกู้จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นถึงเกือบเท่ากับร้อยละ 50 ของ GDP และที่สำคัญคืออาจเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดข่าวลืออื้อฉาวเรื่อง การทุจริตในการประมูลขึ้นได้

ในเดือนมกราคม 2556 มีประเด็นความเสี่ยงทางด้านการเมือง ที่ถูกจัดว่าอยู่ในเขต สีเหลืองแก่ ซึ่งมีความหมายเท่ากับ “เริ่มมีความเสี่ยง” อยู่ 2 ประเด็น คือ การแทรกแซงองค์กรอิสระและหน่วยงานภาครัฐ และการใช้อำนาจรัฐในการแทรกแซงสื่อมวลชน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ จากภายนอกประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ถูกถือว่าเป็น สีเหลืองแก่ แล้ว อยู่ 2 ประเด็น คือ ผลกระทบจากหน้าผาทางการคลังของประเทศสหรัฐอเมริกาและปัญหาหนี้สินของสหภาพยุโรป สำหรับกรณีของประเทศสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาส่วนหนึ่งได้แล้ว ในปลายปี 2555 แต่จะต้องรอดูการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ว่า จะแก้ปัญหาที่เหลืออย่างไร ส่วนสหภาพยุโรปขณะนี้ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศสมาชิกส่วนหนึ่งคลี่คลายลงไประดับหนึ่ง เนื่องจากมีการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นของสหภาพยุโรป กระนั้นก็ดี สถานการณ์ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาดูต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น