กกต.มั่นใจยื่นศาล รธน.ฟัน “ก่อแก้ว” หลุดเก้าอี้ ส.ส. แน่ เหตุมีคำวินิจฉัยศาล รธน.เป็นบรรทัดฐาน ชี้ชัดการถูกคุมขังโดยหมายศาลทำให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค จึงส่งผลให้สิ้นสุดความเป็น ส.ส. พร้อมระบุว่าความเป็นสมาชิกพรรคต้องมีอยู่ตลอดระยะเวลาการเป็น ส.ส.
วันที่ 3 ธ.ค. แหล่งข่าวจาก กกต. เปิดเผยว่า กรณีมีการยื่นขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ถูกคุมขังเนื่องจากศาลอาญาถอนประกันนั้น กกต.เห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) จะบัญญัติเรื่องการสิ้นสุดสมาชิกสภาพ ส.ส.ไว้ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102 ( 4) คือ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล แต่บทบัญญัตินี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่กรณีของนายก่อแก้ว ศาลอาญายังไม่มีคำพิพากษาคดี การถูกคุมขังเป็นเพียงคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น แต่การถูกคุมขังของนายก่อแก้วจะเป็นผลให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4) ประกอบมาตรา 101(3) และมาตรา 100(3) ประกอบ พ.ร.บ.พรรคเมืองมาตรา 8, 19, 20 ซึ่ง กกต.จะต้องส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายก่อแก้วสิ้นสุดลงจากเหตุดังกล่าว
เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 13/2555 เกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส.เนื่องจากบทบัญญัติมาตราดังกล่าวไว้ในกรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับกรณีของนายก่อแก้วได้ โดยมีสาระสำคัญระบุว่า เมื่อผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมิได้ปฏิบัติตนอยู่ภายในกรอบของกฎหมายจนต้องถูกดำเนินคดี และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายโดยมิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันเลือกตั้ง ทำให้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) ย่อมถือว่าเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วย จึงเห็นว่า การเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 50 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง
และเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ..(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19” แล้ว เห็นว่าบุคคลที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามในขณะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้ว จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วย หากสมาชิกพรรคการเมืองผู้ใดมีลักษณะต้องห้ามเกิดขึ้นภายหลังย่อมมีผลให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของผู้นั้นสิ้นสุดลง
ส่วนการสิ้นสุดสมาชิกภาพสมาชิกพรรคการเมืองจะทำให้ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4) หรือไม่ เห็นว่า คุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว มิใช่ต้องมีอยู่ในขณะสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องคงมีอยู่ตลอดระยะเวลาของการเป็น ส.ส. หาก ส.ส.ผู้ใดมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเมื่อใดย่อมทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ผู้นั้นสิ้นสุดลง และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 มาตรา 19 มาตรา 20 แล้ว เห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 106 เป็นการวางหลักเกณฑ์กว้างๆ ในการที่สมาชิกภาพ ส.ส.จะสิ้นสุดลง แต่การวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.คนใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม อันนำไปสู่การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.หรือไม่ ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ในกรณีนี้คือ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นจะต้องมีอยู่ตลอดเวลาของการเป็น ส.ส. หาก ส.ส.มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองย่อมทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ผู้นั้นสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4) ประกอบมาตรา 101(3)