เอแบคโพลล์สำรวจพบคนไทย 89% ทราบว่า “บารัค โอบามา” จะมาเยือนไทย ส่วนใหญ่หรือ 85% ต้องการให้ช่วยรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะเดียวกัน 85% อยากให้ช่วยผลักดันการแก้ปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “เสียงสะท้อนของคนไทยต่อนโยบายสาธารณะระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา มาเยือน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,115 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 ทราบว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมาเยือนประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 10.6 ไม่ทราบ
เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการให้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “สนับสนุน” การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 85.4 ต้องการให้ช่วยรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รองลงมาคือ ร้อยละ 69.6 ต้องการให้แก้ไขปัญหาความไม่น่าเชื่อถือศรัทธาในกลุ่มนักการเมืองไทย
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.2 ต้องการให้พัฒนาจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมืองไทย ร้อยละ 63.8 ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงในกลุ่มประชาชนคนไทย ร้อยละ 63.0 ต้องการให้พัฒนาจิตสำนึกของการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประชาชนคนไทย ร้อยละ 62.3 ต้องการให้ช่วยทำให้ประชาธิปไตยของไทยเป็นที่พึ่งได้ของปวงชนชาวไทย ร้อยละ 60.4 ต้องการให้ส่งเสริมความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลไทย ร้อยละ 56.5 ต้องการให้ช่วยส่งเสริมความเป็นผู้นำในกลุ่มนักการเมืองไทย และร้อยละ 52.2 ต้องการให้ช่วยทำให้สิทธิและหน้าที่ของประชาชนคนไทยมีความสำคัญต่อรัฐบาลไทย
นายนพดลกล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ นโยบายสาธารณะระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้บารัค โอบามา ช่วย “ผลักดัน” โดยตอบได้มากกว่า 1 นโยบาย ได้แก่ อันดับแรกหรือร้อยละ 85.7 ระบุแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 84.3 ระบุด้านการศึกษา ร้อยละ 81.4 ระบุด้านการค้าการลงทุน ร้อยละ 65.7 ระบุด้านปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 61.3 ระบุด้านสุขภาพ ร้อยละ 60.0 ระบุด้านการป้องกันประเทศและปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเอเซีย ร้อยละ 58.6 ระบุด้านปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และร้อยละ 52.9 ระบุด้านปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องการให้เกิดการค้าการลงทุนร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.1 ระบุด้านเทคโนโลยี รองลงมาคือ ร้อยละ 72.9 ระบุด้านพลังงาน ร้อยละ 68.0 ระบุด้านการศึกษา ร้อยละ 62.9 ระบุด้านการพัฒนาคุณภาพคน (ทรัพยากรมนุษย์) ร้อยละ 57.1 ระบุด้านอาหาร ร้อยละ 56.4 ระบุด้านสุขภาพ และร้อยละ 48.6 ระบุด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามความคิดเห็นต่อการได้เปรียบเสียเปรียบที่ประเทศไทยทำการค้าการลงทุนกับสหรัฐอเมริกา พบว่า ร้อยละ 42.3 ระบุไม่มีประเทศใดได้เปรียบเสียเปรียบในเวลานี้ ในขณะที่ร้อยละ 38.3 ระบุประเทศไทยเสียเปรียบ และเพียงร้อยละ 19.4 ที่ระบุประเทศไทยได้เปรียบ ตามลำดับ