xs
xsm
sm
md
lg

เสียงส่วนใหญ่เชื่อพิทักษ์สยามชุมนุมไร้ปฏิวัติ-รบ.ไม่ออก เกินครึ่งรู้การเมืองหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
“นิด้าโพล” เผย ปชช.ไม่เชื่อม็อบเสธ.อ้ายชุมนุมรอบ 2 เป็นชนวนปฏิวัติ ชี้การตั้งข้อกล่าวหา รบ.เป็นตัวเรียกแขก แต่ไม่เชื่อ รบ.ปูจะยอม คาดไร้เหตุรุนแรงเหตุมีบทเรียน ส่วนใหญ่เผยการเมืองหนุนม็อบเรื่องปกติ

วันนี้ (5 พ.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “องค์การพิทักษ์สยาม กับการขับไล่รัฐบาล” ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2555 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,245 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ ในกรณีที่องค์การพิทักษ์สยามและเครือข่ายชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลในวันที่ 28 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 42.25 เห็นว่า การเคลื่อนไหวเดินหน้าขับไล่รัฐบาลขององค์การพิทักษ์สยามและเครือข่ายในรอบที่สองจะไม่เป็นชนวนให้เกิดการปฏิวัติ เพราะ เป็นกลุ่มคนจำนวนไม่มากและส่วนใหญ่เพียงแค่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งยังมีการป้องกันการเกิดเหตุความรุนแรงเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 20.40 เห็นว่าจะเป็นชนวนก่อให้เกิดการปฏิวัติได้ เพราะ เป็นแรงกดดันอุดมการณ์ทางการเมือง และผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล

สำหรับกรณีที่องค์การพิทักษ์สยามและเครือข่ายตั้งข้อกล่าวหาเพื่อขับไล่รัฐบาลนั้น ประชาชนร้อยละ 36.39 เห็นว่าจะสามารถดึงมวลชนเข้าร่วมเครือข่ายในการชุมนุมได้เพิ่มขึ้น เพราะมีคนให้ความสนใจมากขึ้น รวมทั้งการการทำงานของรัฐบาลนั้น ไม่โปร่งใส ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 20.16 เห็นว่าเท่าเดิม เพราะที่ผ่านมาก็มีคนมาชุมนุมเท่าเดิม และมีทั้งประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 53.73 เชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองขององค์การพิทักษ์สยามและเครือข่ายจะไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลลาออกได้ แต่ประชาชนอีกร้อยละ 15.90 เชื่อว่าจะสามารถกดดันรัฐบาลให้ลาออกได้

เมื่อถามว่าในการชุมนุมครั้งต่อไปจะเกิดเหตุรุนแรงเหมือนในอดีตหรือไม่นั้น ประชาชนร้อยละ 50.60 ระบุว่าไม่เกิดความรุนแรง เพราะมีบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่ในความสงบได้ แต่ประชาชนอีกร้อยละ 25.46 ระบุว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น เพราะการชุมนุมทุกครั้งมักมีการปะทะกันและเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงตามมา

ท้ายสุดประชาชน ร้อยละ 61.93 เชื่อว่าในการชุมนุมครั้งนี้มีกลุ่มการเมืองหนุนหลังอยู่ เพราะ มีการเอื้อประโยชน์ของนักการเมืองแอบแฝงอยู่และเป็นเรื่องปกติของการชุมนุม และประชาชน ร้อยละ 10.92 เชื่อว่าไม่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง เพราะเป็นเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น