“นายกฯ ปู” จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” เชิญชวนคนไทยร่วมชมขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเฉลิมพระเกียรติในหลวง เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ พร้อมแจงเหตุปรับ ครม. เพื่อเติมตำแหน่งที่ว่าง ยันงานไม่สะดุด ปรับเปลี่ยนเพื่อเสริมงานในแต่ละกระทรวง ย้ำรัฐบาลทำงานเป็นทีม ไม่ยึดตัวบุคคล เผย พ.ย.มีคิวไปต่างประเทศยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (3 พ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ตามปกติ โดยเริ่มกล่าวถึงการเตรียมการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2555 ว่า จะมีการซ้อมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ซึ่งการเตรียมการทั้งหมดใช้เจ้าหน้าที่ถึง 2,311 คน จำนวนเรือ 52 ลำ โดย ผบ.ทร.ได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกอย่าง ทั้งการดูแลความปลอดภัย และความพร้อมเพรียงต่าง ๆ จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชมพิธีซ้อมใหญ่และในพระราชพิธีจริงที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ย.นี้ได้ตลอดเส้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา หากไม่สามารถเดินทางมาได้ ก็จะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ให้ได้รับชมกัน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มาชมบรรยากาศจริง เพราะจะได้บรรยากาศที่ประทับใจมากกว่า
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในปีนี้รัฐบาลยังได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปี วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยเป็นกิจกรรมที่จัดร่วมกับยูเนสโก ซึ่งจะมีการเผยแพร่พระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส และชิคาโก เริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง ก.ย. 56 นอกจากนี้ สำหรับกิจกรรมในประเทศไทยจะมีการสร้างอาคารบริการทางการแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ศรีราชา โดยสภากาชาดไทย ร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
จากนั้นได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการปรับ ครม.ปู 3 ว่า เนื่องจากนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และนายธีระ วงศ์สมุทร อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ ดูเหมือนเป็นการปรับใหญ่ แต่ครึ่งหนึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกระทรวงเฉยๆ เพื่อให้รัฐมนตรีที่มีความชำนาญในแต่ละส่วน จะได้ไปช่วยเสริมซึ่งกันและกัน
ส่วนรัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่มีประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้น ยืนยันว่าจะไม่ทำให้งานของรัฐบาลที่ทำมาตลอด 1 ปีสะดุดลงอย่างแน่นอน เพราะทุกอย่างที่เราทำ เราไม่ได้ยึดที่ตัวบุคคล และนโยบายต่างๆ เราทำเป็นทีมอยู่แล้ว ดังนั้นการทำงานจะมีความต่อเนื่อง มีการส่งมอบงานกันต่อ รวมทั้งมีหน่วยงานในการติดตามและให้ข้อมูลกับรัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ด้วย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการแบ่งงานให้กับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหมดว่า ได้แบ่งงานให้กับรองนายกรัฐมนตรีมากหน่อย เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะดูแลข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับคดีพิเศษ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ จะดูแลงานด้านสังคม สาธารณสุข รวมถึงข้อกฎหมายที่เป็นข้อพิพาทกับต่างประเทศ
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ก็จะดูด้านเศรษฐกิจ ส่วนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ก็จะดูงานกระทรวงการต่างประเทศ งานวิจัย และไอซีที เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับงานด้านความมั่นคงนั้น ตนมองว่าเนื่องจากมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นตนก็จะเข้ามาดูแลงานด้านความมั่นคงด้วยตัวเองโดยตรง เพราะถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ
สำหรับงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มีศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) รับผิดชอบอยู่แล้ว เพียงแต่เสริมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าไปเพิ่มเติมเท่านั้น ทุกอย่างยังคงขับเคลื่อนโดยกลไกเดิม ความจริงการทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในส่วนกลางจะทำหน้าที่บูรณาการ แต่การทำงานทั้งหมดยังอยู่ในความรับผิดชอบของ กอ.รมน. และศอ.บต. ซึ่งวันนี้มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้สั่งการอยู่แล้ว ยืนยันงานทั้งหมดสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงภารกิจเดินทางร่วมประชุมในต่างประเทศว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีกำหนดการหารือระดับเวทีภูมิภาคและระดับโลก โดยวันที่ 5-6 พ.ย.นี้ จะไปกรุงเวียนจันทน์ เพื่อร่วมประชุมอาเซ็ม เวทีที่ผู้นำเอเชียและยุโรปมาเจอกัน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ หารือด้านกรอบใหญ่ๆ 3 เสาหลัก การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมกับประเทศสมาชิกทั้งหมด 49 ประเทศ ซึ่งจะอาศัยเวทีนี้ แสดงจุดยืนของประเทศไทยในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเราก็จะแสดงความมั่นใจในเศรษฐกิจยุโรปว่าถ้าร่วมมือใกล้ชิด ก็เชื่อมั่นในการขยายการค้าการลงทุน รวมทั้งอาศัยจุดนี้ในการเชื่อมโยงสู่การคมนาคมทางบก น้ำ ทะเล กับประเทศเพื่อนบ้าน
หลังจากนั้นจะเดินทางไปบาหลี 7-8 พ.ย. เป็นเรื่องเวทีประชาธิปไตย ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ความคิดริเริ่มโดยประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โดยเมื่อครั้งที่เราจัด WEF ท่านประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มาเยือนไทย ครั้งนี้เราก็ถือว่าเรามีส่วนสนับสนุน และส่งเสริมเวทีนี้ ให้ภูมิภาคนี้ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความรู้แนวหลักเรื่องประชาธิปไตย
จากนั้นจะเดินทางไปอังกฤษ เป็นการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการนัดหมายกันล่วงหน้า 2-3 เดือนกว่าจะได้ตารางที่ลงตัวร่วมกัน ซึ่งนอกจากหารือทวิภาคีแล้ว การเดินทางไปในครั้งนี้จะมีบริษัทไปด้วย 50 บริษัท รูปแบบที่จัดเป็นการหารือทวิภาคีความร่วมมือระหว่างไทยกับอังกฤษ ในส่วนของภาคธุรกิจก็ไปหารือในการต่อยอดการค้าการลงทุนร่วมกัน และเสริมโรดโชว์พบนักลงทุนขนาดใหญ่ของอังกฤษ พูดถึงแผนการลงทุนของรัฐบาล ถ้าตลาดต่างประเทศเห็น และเชื่อมั่นก็เป็นโอกาสในการส่งเสริมการลงทุนของเรา เพราะขณะนี้คนอังกฤษมาเมืองไทยก็เยอะ เป็นโอกาสส่งเสริมในเรื่องของทราเวิล เอเจนต์ด้วย รวมทั้งมีโอกาสพบนักเรียนทุนไทยด้วย จะได้เยี่ยมเยียนว่าน้องๆเป็นอย่างไรบ้าง และแถมท้าย ก็คือ ไปดูจุดดีๆของอังกฤษในเรื่องของการพัฒนา เพราะที่นี่เป็นเมืองเก่า มีการพัฒนาการและการบริหารที่ดี แต่เรื่องนี้ต้องขออุบไว้ก่อนแล้วจะมาเล่าให้ฟัง
หลังจากนั้นจะไปประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กัมพูชา ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 มีการประชุมทั้งหมด 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เรียกว่า อาเซียนพลัส เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลี เราก็จะหารือในกลุ่มอาเซียนก่อน และร่วมกับอาเซียนกับประเทศอื่นๆ เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจ ตัวเองก็หนัก เจ้าหน้าที่ก็หนัก แต่ก็อยากให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีโอกาสได้พบผู้นำท่านอื่นๆ ที่จะได้สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด