xs
xsm
sm
md
lg

มติศาล รธน.ไม่รับคำร้องยับยั้งจำนำข้าว ชี้ไม่อยู่ในอำนาจศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องยับยั้งจำนำข้าวของนักวิชาการ ชี้อยู่นอกเหนืออำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเตรียมแถลงต่อสื่อมวลชนเวลา 14.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เดินทางมายื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยยับยั้ง หรือยุติ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 84 (1) วันนี้ (10 ต.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาว่าจะรับ หรือไม่รับนั้น

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง อ.นิด้าขอให้ยับยั้งจำนำข้าว โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่าอยู่นอกเหนืออำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งโฆษกศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงผลการประชุมต่อสื่อมวลชนในเวลา 14.00 น.วันนี้

ล่าสุด นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องกรณีนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และคณะ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่า คำร้องนี้เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับผู้ร้องยังมิใช่เป็นบุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมิใช่เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญคำร้องนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212

“ คำร้องนี้ถือว่าตกไปในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลได้วินิจฉัยชัดแล้วว่าไม่มีอำนาจพิจารณาเนื่องจากตามคำร้องนั้นมาตรา 84 (1) เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัย อีกทั้งผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ทีไม่มีอำนาจในการยื่นตรงต่อศาล ดังนั้นผู้ร้องต้องไปศึกษาว่า แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐดังกล่าว อยู่ในอำนาจองค์กรใด ดังนั้นผู้ร้องต้องไปศึกษาว่านโยบายดังกล่าวอยู่ในอำนาจการพิจารณาขององค์กรใด และหากองค์กรนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องต่อมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยต่อไป” นายพิมล กล่าว

อย่างไรก็ตามในช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะตุลาการ นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย และคณะ เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องกรณีนายอดิศร์ ขอให้วินิจฉัยพิจารณายับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยมีนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับหนังสือ

นายสิงห์ทอง กล่าวว่า โดยเนื้อหาของการมายื่นหนังสือครั้งนี้ เพราะเห็นว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และเกษตรกรก็ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ จึงอยากให้ศาลวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.เรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ เพราะโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการจะสิทธิเข้าไปแทรกแซงได้หรือไม่ 2.ในคำร้องที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญม.84 (1) หรือไม่ โดยเห็นว่าประเด็นนี้ไม่น่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และน่าจะเข้าข่ายยกเว้นของกฎหมาย 3.ตามรัฐธรรมนูญม.84 น่าจะเป็นการขัดกันเองระหว่าง (1) และ (8) จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลฝ่ายบริหารมีความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายที่สามารถกระทำได้ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและหาเสียงไว้กับประชาชนเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเห็นว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ถือว่าช้าเกินไป เพราะอยู่ในช่วงระหว่างที่ตุลาการดำเนินการพิจารณาว่ารับหรือไม่รับคำร้อง





กำลังโหลดความคิดเห็น