xs
xsm
sm
md
lg

“ชูศักดิ์” ดักคอศาล รธน.! ไร้อำนาจรับฟ้องจำนำข้าว ชี้หน้าที่รัฐสภาสอบ งงละเมิดสิทธิตรงไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานด้านกฏหมายพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
รัฐบาลส่ง “ชูศักดิ์” แจงกรณีอาจารย์นิด้าฟ้องศาลรัฐธรรมนูญระงับจำนำข้าว งงขัดรัฐธรรมนูญถูกละเมิดสิทธิตรงไหน ยันไม่เข้า ม.43, ม.84 (1) ชี้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลตรวจสอบนโยบายรัฐ ระบุเป็นอำนาจของรัฐสภาชัด แนะตุลาการคิดให้ดีรับเรื่องหรือไม่ หวั่น 9 อรหันต์อำนาจล้นสอบรัฐล้ำเส้นเกินบัญญัติกฎหมาย

วันนี้ (9 ต.ค.) เว็บไซต์อินไซด์ไทยโกฟดอตคอม (www.insidethaigov.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของผู้สนับสนุนรัฐบาล ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถึงกรณีที่กลุ่มนักวิชาการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ 81 (1) ว่า เรื่องแรกเลยก็คือ เรื่องของการยื่นเรื่องให้ศาล ซึ่งปกติระบบศาลรัฐธรรมนูญของเรามันต้องมีอำนาจที่จะยื่นและองค์ประกอบตามกฎหมายที่จะยื่น ซึ่งปัจจุบันอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มันจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ 1. วินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส.และรัฐมนตรี เช่นล่าสุดที่มีการยื่นคำร้องว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ขาดคุณสมบัติก็จะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ 2. จะต้องเป็นผู้วินิจฉัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ตราขึ้นโดยชอบว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเอาไว้ว่ากฎหมายบางฉบับที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ออกมาโดยมิชอบ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ก็ทำให้กฎหมายนั้นตกไป หรือกฎหมายมาตราหนึ่งมาตราใดขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการวินิจฉัยว่ามาตรานั้นขัดรัฐธรรมนูญ และใช้บังคับไม่ได้

นายชูศักดิ์กล่าวว่า 3. การวินิจฉัยตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมเข้าใจกันว่ามาตรา 68 นั้นจะต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด แต่ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยเสียเองแล้วว่าสามารถร้องได้โดยตรง แต่มาตรา 68 นั้นองค์ประกอบของมันก็คือล้มล้างการปกครอง กระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายเป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา 212 ซึ่งเป็นบัญญัติที่ตราขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้สิทธิ์ประชาชนเพื่อจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 212 นั้นบทบัญญัติชัดเจนว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

“แปลว่าให้สิทธิประชาชนในการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง แต่การร้องนั้น 1. คุณต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ 2. กฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ จนทำให้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และ 3. ต้องไม่อาจจะใช้ในทางอื่นได้แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อรวมทั้ง 4 ประการนี้แล้วการที่นักวิชาการจากนิด้า ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าตอนแรกไปร้องแบบไม่ได้อ้างองค์ประกอบกฎหมายใดๆ ฝ่ายธุรการของศาลก็เลยให้ไปแก้ แล้วเข้าใจว่าเขาก็คงไปแก้ให้มันเข้ามาตรา 212” นายชูศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่าจะแก้ไขอย่างไรหากจะให้เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 212 นายชูศักดิ์กล่าวว่า มันก็ต้องไปเข้าองค์ประกอบว่า 1. พวกอาจารย์จากนิด้าเหล่านี้เขาถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ 2. กฎหมายอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญและนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะอ้างกฎหมายอะไร และต้องการให้วินิจฉัยว่ากฎหมายอะไรขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ 3. เขามีทางอื่นไหม เช่น กลไกรัฐสภา หรือองค์กรอื่นๆ ก็ว่ากันไป เพราะฉะนั้นถ้าดูจากบทบัญญัติตรงนี้ โดยเฉพาะ 4 ประการตามมาตรา 212 มันไม่มีช่องที่จะไปศาลรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่า กลุ่มนักวิชาการอ้างว่ายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นโยบายรับจำนำข้าว ตามมาตรา 43 และ 84 (1) นายชูศักดิ์กล่าวว่า มันไม่ใช่ คือถ้ายื่นเพราะนโยบาย มันก็คือเรื่องนี้มันเป็นแนวนโยบายของรัฐ อยู่ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งหลักของเรื่องนี้ก็คือ 1. รัฐบาลต้องแถลงต่อรัฐสภาว่าจะทำอะไร ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็แถลงว่าจะดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว เพื่อเข้าไปยกระดับราคาสินค้าข้าวและยกระดับรายได้ของเกษตรกร ซึ่งก็แถลงต่อรัฐสภา และรัฐบาลมีหน้าที่รายงานต่อรัฐสภาปีละครั้ง ซึ่งก็แปลว่า คนที่ต้องรับผิดชอบในการดูแลตรวจสอบ แนวนโยบายของรัฐบาลเหล่านี้ก็คือรัฐสภา ที่มีหน้าที่รายงานปีละครั้งว่านโยบายนี้ใช้เงินไปเท่าไร ในการรับจำนำข้าวและในท้ายที่สุด ก็ต้องรายงานว่าเป็นอย่างไร กำไรเท่าไรและอย่างไร ซึ่งต้องรายงานปีละครั้ง

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ซึ่งแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนี้รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นและไม่ได้เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบเลย และคนที่จะตรวจสอบได้ก็เป็นอำนาจของรัฐสภา อันนี้ก็เป็นหลักการแบ่งแยกอำนาจธรรมดาๆ ที่เราเข้าใจโดยทั่วไป ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็แถลงไว้ว่าจะทำนโยบาบรับจำนำและรัฐสภาก็ได้ถกเถียงกันเรื่องนี้มาพอสมควร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ทำหนังสือถึงรัฐบาล รัฐบาลก็ชี้แจงไป แล้วพอครบ 1 ปีก็แถลงว่าใช้เงินไปเท่าไร มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เกษตรกรได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไร

คณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า ดังนั้นคนที่รับผิดชอบในการตรวจสอบคือ รัฐสภา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลได้ทุกเรื่อง ซึ่งผมเคยต่อสู้ไว้ในกรณีมาตรา 68 แล้วว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ต่อไปประเทศนี้รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร เพราะจะขึ้นอยู่กับคน 9 คน หรือแม้แต่รัฐสภา ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีผู้มาบอกว่าจะต้องไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ แม้กระทั่งองค์กรอิสระอื่นๆ หากมีผู้ไปร้องแล้วอ้างข้อกฎหมายผิดๆ ถูกๆ หากศาลรัฐธรรมนูญรับเอาไว้หมด มันจะเหมือนคำในทางรัฐศาสตร์ ที่เขาว่ากันเอาไว้ว่าก้าวล่วงอำนาจอื่นๆ ผมว่าเรื่องนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนก็เข้าใจอย่างนี้ ซึ่งผมอ่านจากคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีมาตรา 68 ที่วินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 นั้นชอบหรือไม่ชอบ โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ

“สรุปแล้วคือต้องคิดให้ดีว่าหากมีการรับเรื่องนี้เอาไว้พิจารณา มันจะกลายเป็นว่าต่อไปนี้คน 9 คนจะเข้าไปตรวจสอบรัฐบาลก็ได้ ตรวจสอบรัฐสภาก็ได้ หรือตรวจสอบองค์กรอิสระอื่นๆก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจ แล้วยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูข้อกฎหมายเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ 4 ข้อก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ามันไม่เข้าอะไรเลย และท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกรณีมาตรา 68 อีก” นายชูศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่นักวิชาการกลุ่มที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนโยบายรับจำนำข้าว อาจจะมองว่าเข้าตามมาตรา 212 ในฐานประชาชน ที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ความหมายของมาตรานี้ก็คือ คุณถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ และกฎหมายที่มาละเมิดคุณนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วนักวิชาการจะไปอ้างกฎหมายอะไรมาทำให้เขาถูกละเมิด เอาข้อแรกก่อนเลยก็คือ เขาถูกละเมิดอะไรบ้าง อาจจะบอกว่าผมถูกละเมิด เพราะผมต้องกินข้าวแพง รัฐบาลก็บอกว่าเรื่องของการจำนำข้าวนั้นเป็นเรื่องที่กำหนดขึ้น และทำมาแล้วเพื่อที่จะคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด รัฐบาลก็อ้างได้ตรงนี้ ที่ทำเพราะเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทีผ่านมาถูกพ่อค้า นายทุน โรงสี กดราคา ก็ได้ทำตามนี้ แล้วไม่ได้ไปแข่งขันทางการค้าอะไรเป็นต้น ผมว่ามันไม่เข้าข้อกฎหมายอะไรเลยเท่าที่ดู

เมื่อถามว่า บทเรียนหลายครั้งที่ผ่านมาอาจจะทำให้ไม่มั่นใจว่าการยึดเพียงตัวบทกฎหมายนั้นอาจจะไม่เพียงพอ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตนก็เผื่อใจไว้บ้าง เพราะเห็นกรณีตัวอย่างจากกรณีมาตรา 68 แต่จากการดูคำวินิจฉัยส่วนตนอะไรต่างๆ มา คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยกึ่งหนึ่งเข้าใจดีถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งถ้ามันเกิดเป็นแบบที่เราเป็นห่วงกันจริงๆ มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก รัฐบาลและรัฐสภา อาจจะต้องมาคิดว่าจะยอมได้หรือไม่เพราะมันจะกลายเป็นว่าบ้านเมืองนี้ตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย แต่ตนเอง ยังค่อนข้างจะเชื่อว่ามันไม่มีองค์ประกอบใดๆ ไม่มีข้อกฎหมายใดๆ ที่จะสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้เอาไว้พิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น