xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” สั่ง “ปลอด” ลงพื้นที่ 4 จว.ภาคตะวันตกรับมือแกมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลสั่ง 12 ผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้าเตรียมมือรับแกมี ขณะที่ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ ห่วงแกมีจะสลายตัวในลาวก่อนจะมีความกดอากาศดันลงสู่พื้นที่ภาคใต้และอ่าวไทยเข้าสู่ภาคตะวันตก ซึ่งอาจจะทวีความรุนแรง “นายกฯปู” สั่ง “ปลอดประสพ” ลงพื้นที่รับมือ

ที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ตึกแดง ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (5 ต.ค.) นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล ในฐานะเลขาสำนักงานนโยบายและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) แถลงถึงสถานการณ์อุทกภัยประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2555 ว่า ขณะนี้พายุโซนร้อน “แกมี” ยังเคลื่อนตัวอยู่ในทะเลด้วยความเร็วที่น้อยมาก จึงทำให้พายุที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่ค่อยมีผลกระทบมากนเนื่องจากผลที่จะทำให้เกิดพายุฝนนั้นเป็นขอบของพายุแกมีเท่านั้น

จากการวิเคราะห์ในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.55) แกมีจะเคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่งในประเทศเวียดนาม กัมพูชา และลาว โดยคาดการณ์ว่าวันที่ 8 ต.ค.นี้จะเข้าสู่ประเทศไทย แต่ทั้งนี้ลักษณะพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศกัมพูชาและลาวนั้น ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากขอบของพายุซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนัก

ขณะนี้ทางรัฐบาลได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือกับอิทธิพลของพายุแกมี โดยจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมี12จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร ศรีษะเกษ อุบลราชธานี มุกดาหาร สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระนอง สตูล กระบี่ และตรัง อย่างไรก็ตามต้องติตามสถานการณ์ของพายุแกมีอย่างต่อเนื่องเพราะขณะนี้ลักษณะพายุมีการเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนที่ของลมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากพายุได้รับความกดอากาศสูงจากประเทศจีนพลักลงต่ำก็จะไม่ได้รับผลกระทบแต่พายุจะวกกลับสู่อ่าวไทยซึ่งอาจจะเป็นอันตราย จึงต้องติดตามสถานการณ์แบบ24ชั่วโมงต่อไปอย่างใกล้ชิด

นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ อาทิ หน่วยงานของกองทัพบกที่ได้เตรียมพร้อมกำลังทหารเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ.ขณะนี้ทุกจังหวัดได้จัดเตรียมการในส่วนของศูนย์บัญชาการส่วนหน้าตามที่นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้สั่งการไว้ซึ่งประชาชนสามรถติดต่อสอบถามหรือขอความช่วยเหลือได้ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหรือศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ดังนั้นในช่วงนี้จึงอยากให้สื่อมวลชนประสานงานกับ สบอช.เพื่อจะได้แจ้งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนประชาชน

ขณะเดียวกัน น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าการดำเนินการของศูนย์เตือนภัยพิบัติจะมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การแจ้งข่าว การเฝ้าระวัง การเตือนภัย และยกเลิกแผนการ ซึ่งขณะนี้ดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนของการแจ้งข่าวที่จะเกิดผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ ก็จะมีองค์ประกอบอื่นที่ต่างกรณีซึ่งจะเกิดฝนตกในพื้นที่ต่างๆด้วย เช่น ลมตะวันตกเฉียงใต้จะมีอิทธิพลและกำลังแรงขึ้นก็จะทำให้ฝั่งอันดามันมีฝนตกหนักด้วย และภาคเหนือจะมีความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาจากประเทศจีนเพราะกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวของภาคเหนือก็จะมีลมกรรโชกแรงอาจจะเกิดฝนตกหนักด้วย

น.อ.สมศักดิ์ระบุว่า ทั้งนี้สิ่งที่ทาง สบอช.เป็นห่วงมากคือ พายุแกมีจะสลายตัวในพื้นที่ประเทศลาวก่อนและจะมีความกดอากาศดันลงสู่พื้นที่ภาคใต้และอ่าวไทย ซึ่งอาจจะทวีความรุนแรงผ่านเข้าสู่ภาคตะวันตกในจังหวัด นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี ดังนั้นนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สั่งการให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ใน 4 จังหวัดในวันที่ 6 ต.ค.นี้ เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนพื้นที่ราบลุ่มต่ำที่ต้องระวังปัญหาน้ำท่วมขัง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี และชัยภูมิ

กำลังโหลดความคิดเห็น