ชาวนานครปฐมร้องจำนำข้าวส่อทุจริตชัด โรงสีฮั้วเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนตัวเลขใบชั่งน้ำหนักข้าวเกินจริงให้ตรงโควตา แถมปรับราคาเป็น 1.4 หมื่นทั้งที่จ่ายจริงแค่ 1.3 หมื่น สอยส่วนต่างครึ่งแสนต่อราย แล้วหา “ข้าวผี” เติมให้เต็มแทน รับชาวบ้านต้องยอมหวั่นถูกระงับสิทธิ์-โดนข่มขู่ โอดมีข้าวเกินจำนวนเฉลี่ยก็ต้องขายนายทุนราคาถูกอีก แฉโรงสีเริ่มงอแงไม่รับจำนำ ล่าสุดบีบชาวนาจำขายตามกลไกตลาด แนะกรมการข้าวตั้งกิโลลอยแก้ปัญหา
วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายหนึ่งในพื้นที่ จ.นครปฐม พร้อมเอกสารระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวที่ส่อว่าจะเกิดการทุจริตขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วย ใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2554/2555 กรณีพิเศษ ระบุเนื้อที่ผู้ปลูกข้าวจำนวน 25 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 757 กก./ไร่ รวม 18,925 กก. ซึ่งสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน 20% รวมไม่เกิน 22,710 กก. ใบชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกจำนวน 21,070 กก.ราคาเกวียนละ 13,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 273,885 บาท ลงวันที่ 26 ส.ค. 55, ใบชั่งน้ำหนักใบที่ 2 ซึ่งออกโดยโรงสีในวันที่ 28 ส.ค. ระบุน้ำหนักสินค้า 26,230 กก., ใบรับฝากสินค้า ระบุน้ำหนัก 26,230 กก.หักลดความชื้น 3,737.775 กก. คงเหลือ 22,492.225 กก.ในราคา 14.80 บาท/กก. รวมมูลค่า 332,884.93 บาท และใบประทวนสินค้า
โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคนดังกล่าวระบุว่า ตนได้เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ซึ่งได้นำข้าวเข้าไปจำนำตามโครงการที่โรงสีแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม โดยได้ใบชั่งน้ำหนักระบุจำนวน 21,070 กก.ในราคาเกวียนละ 13,000 บาท รวมจำนวนเงินที่จะได้รับทั้งสิ้น 273,885 บาท แต่ปรากฏว่า ในอีก 2 วันต่อมาทางโรงสีได้ออกใบชั่งน้ำหนักอีกใบเพื่อที่จะออกใบประทวนสินค้า โดยระบุจำนวนน้ำหนักที่ 26,230 กก. ขณะที่ใบรับฝากสินค้า อ้างว่าหักลดความชื้นแล้วคงเหลือ 22,495.225 กก. ซึ่งมากกว่าน้ำหนักเดิม 1,425.225 กก. อีกทั้งยังระบุให้ราคารับจำนำเกวียนละ 14,800 บาท ซึ่งมากกว่าเดิม 1,800 บาท รวมส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 58,999.93 บาท โดยเงินส่วนนี้เมื่อได้รับจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) แล้วจะต้องนำกลับไปให้โรงสีดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งบางรายที่ไม่ได้นำเงินไปคืนก็จะถูกโรงสีสั่งระงับสิทธิ์ไม่ให้รับเข้าร่วมจำนำข้าวในครั้งถัดไป บางรายก็โดนข่มขู่คุกคามถึงขั้นทำร้ายร่างกาย
“ตามปกติแล้วโรงสีทั่วไปจะมีทางเลือกให้ชาวนาในการประเมินราคาข้าว 2 ทาง คือ ตีราคาข้าวในนา และวัดความชื้นที่โรงสีข้าว ซึ่งบางโรงสีข้าวมักจะใช้วิธีการวัดความชื้นมากกว่าเพื่อให้ได้ส่วนต่างในการจำนำข้าว ขณะที่การเพิ่มส่วนต่างนี้ก็เพื่อให้ได้จำนวนตามโควตาที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยทางโรงสียังพร้อมที่จะจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ชาวนาที่จำนำข้าวได้ไม่เต็มเพิ่มอีกเกวียนละ 2,000 บาทด้วย” เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกล่าว
เกษตรกรคนดังกล่าวยังอธิบายเพิ่มด้วยว่า ในส่วนข้าวที่หายไปจากจำนวนจริงนั้น ทางโรงสีก็จะใช้วิธีการหาข้าวจากแหล่งอื่นทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศเข้ามาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบประทวนสินค้า ตัวอย่าง ชาวนา ก.มีนา 25 ไร่ นำข้าวมาจำนำจริง 12,000 กก. แต่ทางโรงสียื่นใบประทวนสินค้าไปเต็มจำนวนไร่ที่ 22,710 กก. ทางโรงสีก็จะต้องหาข้าวนอกบัญชีมาใส่ให้ครบจำนวนอีก 10,710 กก. เพราะฉะนั้นจึงทำให้มีข้าวผีมาเข้าในโครงการนี้จำนวนมาก ทั้งนี้หากในปีดังกล่าวชาวนาได้ผลผลิตเกินจำนวนที่รัฐบาลกำหนดไว้ ในส่วนเกินนี้ก็จะต้องขายให้กับโรงสีในราคาตามกลไกตลาด คือราวๆ 8,900 บาทต่อเกวียน
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังระบุถึงการจำนำข้าวครั้งล่าสุดด้วยว่า ขณะนี้เริ่มมีรายงานว่าโรงสีข้าวบางแห่งก็ไม่สามารถรับจำนำข้าวได้ด้วย เนื่องจาก 1. โรงสีอ้างว่าไม่มีที่เก็บข้าวเปลือก 2. โรงสีอ้างว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณในการรับจำนำข้าว ซึ่งพอชาวนาไม่สามารถเข้าโครงการจำนำข้าวได้ก็จำเป็นที่จะต้องยอมขายให้กับโรงสีในราคาที่ถูกลงตามกลไกตลาด
“ผมตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มจำนวนน้ำหนักข้าวให้เกษตรกรทำไมไม่มีเอกสารกำกับและน้ำหนักที่เพิ่มจำนวน 20% ได้เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่หรือไม่ และทุกโรงสีจะเพิ่มน้ำหนักได้ 20% หรือมากกว่านั้น 2 .จะเห็นว่าโรงสีตีราคาข้าวให้เกษตรกรราคาเกวียนละ 13,000 บาท แต่โรงสีออกใบประทวนเบิกจากรัฐบาลเกวียนละ 14,800 บาท ทำไมจึงเบิกเกินราคาที่จ่ายให้กับเกษตรกร และเงินจำนวนนี้เข้ากระเป๋าใคร และ 3. ทำไมรัฐบาลไม่นำใบชั่งน้ำหนักข้าวมาเป็นเอกสารประกอบการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.” ชาวนา จ.นครปฐม กล่าว
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวคนดังกล่าวยังได้แสดงเอกสารการจำนำข้าวในปี 2554/2555 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยพบว่า ในใบประทวนสินค้ามียอดจำนวนข้าวมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลกำหนด 285.125 กก. ทั้งๆ ที่สามารถจำนำได้จริงแค่ 22,710 กก. ขณะที่ทางโรงสีก็ยังระบุราคารับจำนำเพิ่มจากที่ตกลงไว้เกวียนละ 13,000 บาทอีก 1,800 บาทเช่นกัน
“ผมขอแนะนำว่า รัฐบาลโดยกรมการข้าวน่าจะให้เจ้าหน้าที่ตั้งกิโลลอยระหว่างจุดผ่านโรงสีเพื่อให้ชาวนาสามารถนำรถขนข้าวเข้ามาชั่งน้ำหนักเพื่อให้ออกใบชั่งน้ำหนักอย่างถูกต้องแท้จริง และสามารถนำไปใช้ออกใบประทวนสินค้าได้ทันที” เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกล่าว