xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ท.แฉทุจริตอื้องบฟื้นฟูน้ำท่วม สุ่มตรวจ 6 จว.อีสานพบพิรุธทุกโครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ.ดุษฎี  อารยวุฒิ  (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ ป.ป.ท.สอบพบงบฉุกเฉินเยียวยา ฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาลทุจริตอื้อ ระบุแค่สุ่มตรวจบางโครงการใน 6 จังหวัดอีสาน พบพิรุธทุกโครงการ เตรียมเสนอรัฐบาลหาทางป้องกัน แนะผู้บริหารระดับสูงแต่ละจังหวัดดูแลโครงการอย่างใกล้ชิด

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยภายหลังสั่งการให้เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่ 4 ลงพื้นที่กระจายกำลังตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ซึ่งเป็นงบกลางในกรณีฉุกเฉิน หลังได้รับรายงานจากคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับงบดังกล่าวที่จัดสรรลงทั่วประเทศในปี 2555 มีจำนวนมากถึง 120,000 ล้านบาท ว่าอาจมีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงิน โดย ป.ป.ท.นำร่องสุ่มตรวจสอบการใช้งบดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพบว่าเป็นภาคที่มีการเบิกจ่ายงบจำนวนมากที่สุด ประกอบด้วย 6 จังหวัด คือ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ ขอนแก่น และชัยภูมิ มีการตั้งโครงการเบิกจ่ายจำนวน 595 โครงการ เป็นเงินกว่า 563 ล้านบาท

การเบิกจ่ายงบพบข้อพิรุธหลายประการ ทั้งการปกปิดรายละเอียดโครงการ การไม่ทำโครงการให้เป็นไปตามปริมาณวัสดุ การเขียนโครงการซ่อมแซมทั้งที่ไม่มีการชำรุดจริง ผู้ควบคุมไม่ดูแลงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง หรือกระทั่งการนำวัสดุไม่ได้มาตรฐานมาก่อสร้าง

พ.ต.อ.ดุษฎีกล่าวต่อว่า เป็นที่น่าตกใจมากเพราะพบความผิดปกติในทุกโครงการที่สุ่มตรวจ จำแนกได้ดังนี้ จ.บึงกาฬ มี 180 โครงการ งบประมาณรวม 57,761,400 บาท สุ่มตรวจ 5 โครงการ จ.เลย มี 198 โครงการ งบประมาณ 104,438,100 บาท สุ่มตรวจ 10 โครงการ จ.หนองคาย มี 47 โครงการ งบ 174,840,000 บาท สุ่มตรวจ 4 โครงการ จ.อุดรธานี มี 51 โครงการ งบ 76,378,900 บาท สุ่มตรวจ 7 โครงการ จ.ขอนแก่น 99 โครงการ งบ 70 ล้านบาท สุ่มตรวจ 4 โครงการ และ จ.หนองบัวลำภู มี 20 โครงการ งบ 79,803,800 บาท ยังไม่ได้สุ่มตรวจ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ทั้งนี้ ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวมีความน่าเป็นห่วง เพราะเป็นงบประมาณที่น่าจะทำประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ และแจ้งเบาะแสกับ ป.ป.ท.เพื่อดำเนินการต่อผู้ที่ทุจริต โดยเฉพาะในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกันนี้ ป.ป.ท.จะเสนอให้รัฐบาลวางมาตรการควบคุมการใช้จ่ายงบภัยพิบัติอย่างเข้มงวด เช่น การให้ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดลงมาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและมีส่วนเข้ามารับผิดชอบเมื่อพบความผิดปกติในการทำงาน

ส่วนการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.มีการตรวจสอบพบข้อพิรุธในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างแหล่งน้ำ การซ่อมแซมถนนลาดยาง และการซ่อมแซมถนนลูกรัง เช่น การสุ่มตรวจสอบ โครงการซ่อมแซมถนนลูกรังของบ้านแสงสว่าง หมู่ 7 ต.แสงสว่าง-บ้านโนนดินแดง อ.หนองแซง จ.อุดรธานี กำหนดความยาวประมาณ 2,800 เมตร ความกว้าง 5 เมตร วงเงินงบประมาณการก่อสร้าง 3,300,000 บาท แต่ผลการตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบในสัญญาจ้าง ทั้งระยะทางและความกว้าง ซึ่งก่อสร้างความยาวเพียง 1,500 เมตร ปริมาณลูกรังไม่ครบ การบดอัดไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้ลงชั้นดินถมตามสัญญา

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้รับเหมาไม่ได้ใช้ดินลูกรังในการก่อสร้างตามแบบ แต่ไปขุดดินแดงที่ชาวบ้านบริจาคนำมาใช้ถมถนน เมื่อฝนตกทำให้หน้าดินเละเป็นโคลนดินเหนียว รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฎว่าผู้รับเหมาก่อสร้างได้เข้าขยายไหล่ทางเพื่อให้ความกว้างของถนนเพิ่มขึ้น พร้อมเกลี่ยผิวถนนใหม่

โครงการซ่อมแซมถนนราดยาง สายบ้านนิคม 1 บ้านโนนสง่า อ.เมือง จ.อุดรธานี มีการเบิกจ่ายงบประมาณเต็มวงเงินจำนวน 236,000 บาท เพื่อซ่อมถนนลาดยางยาว 113 เมตร แต่ปรากฎว่ามีการซ่อมบำรุงเพียงบางส่วน และไม่ติดประกาศป้ายโครงการแต่กลับมีรายจ่ายเบิกค่าทำป้ายจำนวน 3,000 บาท นอกจากนี้ยังพบว่าราคาซ่อมแซมถนนค่อนข้างสูงกว่าปกติ โดยราคาสร้างถนนจะมีราคาประมาณ 600 บาทต่อตารางเมตร แต่โครงการซ่อมถนนสายนี้ตั้งราคาไว้ถึงตารางเมตรละ 400 บาท โครงการซ่อมแซมถนนราดยางที่บ้านหนองม่วง ต.โคกกลาง อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ระยะ 0.8 กิโลเมตร ผิวจราจรกว้าง 6 เมตร วงเงินงบประมาณ 2,495,000 บาท ป.ป.ท.ตรวจสอบว่าได้มีการส่งมอบงานและรับเงินไปเต็มจำนวน แต่ปรากฏว่าไม่ได้ทำการซ่อมแซมถนนให้เป็นไปตามสัญญา คือต้องซ่อมแซมผิวถนนที่ต้องชำรุดกว่า 10 จุด แต่ซ่อมเพียง 7 จุด

สำหรับโครงการขุดลอกลำห้วยบุ่งก้านเหลือง ต.หนองเขียด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งระบุว่าเป็นการขุดลอกลำห้วยกว้าง 10 เมตร ยาว 1,500 เมตร และมีความลึกเฉลี่ย 4.5 เมตร วงเงินงบประมาณ 1.5 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าทั้งความกว้างและความลึกไม่เป็นไปตามสัญญา อีกทั้งยังเป็นการโยกงบจากพื้นที่อื่นมายัง ต.หนองเขียด โดยเจ้าหน้าที่ช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างเข้าชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นว่า โครงการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของป้องกันจังหวัด อบต.เป็นเพียงเจ้าของพื้นที่ สาเหตุที่ไม่สามารถขุดลอกลำห้วยได้ตรงตามสัญญาเป็นเพราะชาวบ้านไม่ยอมส่งมอบเนื้อที่ และเมื่อความกว้างไม่ตรงตามสัญญาจึงขยายความยาวของลำห้วยเป็น 2,000 เมตร เพื่อไม่ต้องส่งเงินงบประมาณส่วนต่างกลับคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น