xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ชี้ประธาน กสม.นั่ง กก.สรรหา กสทช.ไม่ขัด ม.256

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ประธาน กสม.นั่งเป็นกรรมการสรรหาก กสทช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เหตุแค่ปฏิบัติหน้าที่ลักษณะคณะทำงาน ไม่ได้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐตามลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

วันนี้ (29 ส.ค.) นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำร้องที่ศาลปกครองกลาง ศาลยุติธรรม และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ประกอบมาตรา 207 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 14 (1) กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง จำนวน 15 คน เพื่อสรรหากรรมการคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ทำหน้าที่เพื่อคัดเลือกกรรมการ กสทช. โดย 1 ใน 15 กรมการสรรหานั้น คือประธาน กสม. แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ประกอบมาตรา 207 วรรคหนึ่ง (2) ห้ามให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ

โดยศาลรัฐธรรรมนูญเห็นว่า การไปทำหน้าที่กรรมการสรรหา กสทช.ของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการทำหน้าที่กรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. เมื่อสรรหาจนได้บุคคลที่เหมาะสมเป็น กสทช.แล้วรวม 22 ราย ก็ต้องส่งให้วุฒิสภานำไปรวมกับที่องค์กรวิชาชีพและภาคส่วนอื่นเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็น กสทช.มาอีก 22 ราย รวมเป็นรายชื่อที่วุฒิสภาต้องพิจารณา 44 ราย ซึ่งวุฒิสภาจะทำการคัดเลือกให้เหลือ 11 คนเป็น กสทช. คณะกรรมการสรรหา กสทช.ที่ประธานกสม.ร่วมเป็นกรรมการจึงเหมือนคณะทำงานที่เมื่อทำงานแล้วเสร็จ ก็สิ้นผลไป ไม่ได้เป็นผู้เลือกกรรมการ กสทช. 11 คนโดยตรง ดังนั้นจึงเห็นว่ามาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ประกอบมาตรา 207 วรรคหนึ่ง (2)

มีรายงานว่า การประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้นั้น ได้ประชุมกันที่สำนักศาลรัฐธรรมนูญ ถนนจักรเพชร ปากคลองตลาด ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเดิม โดยสาเหตุที่ไปประชุมที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเดิมนั้น เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเพื่อต้องการใช้สำนักงานเดิมให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นนโยบายของตุลาการ ที่ระบุไว้ว่าต้องไปประชุมที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเดิม เดือนละ 1 ครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น