xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.แจงไม่มีหน้าที่จุ้นห้อง “ศักดา” - รอ “ปู” สั่งเดินหน้า ศปก.จชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต (แฟ้มภาพ)
โฆษก กอ.รมน.แจงไม่ได้ส่ง จนท.ตรวจสอบห้องทำงาน“ศักดา” ชี้กอ.รมน.ทำงานระดับประเทศ ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ระบุตั้ง ศปก.จชต.เป็นเครื่องมือกรองงานแก้ไขปัญหาไฟใต้ให้ “ยิ่งลักษณ์” รายละเอียดโครงสร้าง-ภารกิจหน้าที่ต้องรอนายกฯ อนุมัติเป็นคำสั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 ส.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงชี้แจงถึงกรณีที่นายศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการ ออกมาระบุว่าทาง กอ.รมน.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดำเนินการตรวจสอบห้องทำงาน เนื่องจากสงสัยว่ามีการติดตั้งเครื่องดักฟังว่า ในภารกิจงานหน้าที่ของ กอ.รมน.นั้นไม่ได้มีหน้าที่ดำเนินการในเรื่องลักษณะดังกล่าว การตรวจเครื่องมือดักฟังเป็นภารกิจที่จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเครื่องมือสื่อสารเป็นอย่างดี ซึ่งใน กอ.รมน.ไม่ได้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ที่ใช้เครื่องมือพิเศษเหล่านั้น ทั้งนี้ กอ.รมน.มีบทบาทหน้าที่ประสานงานการดูแลอำนวยการในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทั้งประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“การตรวจสอบเครื่องมือดักฟังที่ห้องทำงานของ รมช.ศึกษาธิการนั้น อาจจะเป็นความคาดเคลื่อนของผู้ให้ข่าวที่ไม่เข้าใจในภารกิจหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ที่ไปทำหน้าที่ตรวจสอบ อาจมีหวังดีว่าจะให้เป็นงานของ กอ.รมน. จึงขอชี้แจงว่าเราไม่ได้มีภารกิจหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเท่าที่ทราบนั้นทราบว่าได้มีการขอร้องไปทางสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยดำเนินการตรวจสอบ เพราะมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย และการพบสิ่งผิดปกติในสถานที่ราชการนั้นจะต้องไปดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจาก กอ.รมน.ทำงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลแต่อย่างใด รวมทั้งภายใน กอ.รมน.ไม่มีหน่วยงานที่ดำเนินการด้านเครื่องมือสื่อสารในลักษณะดังกล่าว และไม่สามารถทำได้ อาจเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อนของผู้ที่ให้ข่าว” โฆษก กอ.รมน.กล่าว

และในวันเดียวกันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ต.ดิฏฐพรให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าที่ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศปก.จชต.ว่า รายละเอียดโครงสร้างและภารกิจหน้าที่ของ ศปก.จชต.นั้น ขณะนี้กำลังรอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดำเนินการอนุมัติคำสั่ง โดย ศปก.จชต.ถือเป็นองค์กรเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ เพื่อช่วยกรองงานให้นายกรัฐมนตรีมีขั้นตอนในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยนายกฯ ไม่ต้องมาลงรายละเอียดด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการกรองงานให้นายกฯ ทั้งนี้ ศปก.จชต.จะดูแลทุกเรื่องที่กระทบต่อการปฏิบัติงานของ กอ.รมน. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่ไม่สามารถสั่งการได้ โดยจะต้องอาศัยอำนาจของนายกฯ ส่วนที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ระบุว่าจะส่งรายชื่อคณะทำงานให้กับนายกฯภายในวันที่ 24 ส.ค.นั้น ขณะนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำลังรวบรวมรายชื่อจากหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เจ้าหน้าที่หลักไม่เกิน 40 คน แต่ถ้าเกิดสถานการณ์ไม่ปกติก็จะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในส่วนที่จำเป็นต่อภารกิจนั้นๆ ขึ้นอีก โดยจะกำหนดเป็นโครงสร้างอัตรา ทั้งอัตราเต็มและอัตราทำงานปกติซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ด้านการข่าวและการติดตามสถานการณ์นั้นจำเป็นที่จะต้องเริ่มทำงานก่อน

เมื่อถามว่าส่วนที่มีข้อห่วงใยว่าการตั้ง ศปก.จชต.นั้นจะเกิดความซ้ำซ้อนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ พล.ต.ดิฏฐพรกล่าวว่า ทาง สมช.เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่เลขานุการ จะดำเนินการรวบรวมสรุปอีกครั้งว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ ศปก.จชต.จะกระทบหรือซ้ำซ้อนกับหน่วยงานขององค์กรใดหรือไม่ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปได้อย่างเหมาะสมและกระชับที่สุด รวมถึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ต่างๆ และไม่กระทบกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

เมื่อถามถึงกรณีที่นายอาซีส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เสนอให้ยุบ ศปก.จชต.นั้น พล.ต.ดิฏฐพรกล่าวว่า ขณะนี้ทาง พล.ท. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้เข้าไปทำความเข้าใจชี้แจงแล้ว เชื่อว่าจะเกิดความเข้าใจและความร่วมมือกันได้ด้วยดี

เมื่อถามว่าในส่วนของ กอ.รมน.หนักใจหรือไม่ว่า การทำงานอาจจะเกิดปัญหาได้ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย พล.ต.ดิฏฐพรกล่าวว่า คงไม่มี เพราะ กอ.รมน.และ ศอ.บต.มี พ.ร.บ.คนละฉบับ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการทั้งสองหน่วยงานก็คือนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นเมื่อมีเรื่องที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้นในหน่วยงานทั้งสองหน่วยงานนั้นนายกรัฐมนตรีก็คงจะตัดสินใจเองว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ทางด้านไหนในการบริหาร อย่างไรก็ตาม การตั้ง ศปก.จชต.นั้นขณะนี้ยังเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรียังถึงขั้นเป็น พ.ร.บ. แต่หากมีความแน่นอนมั่งคงที่จะใช้ต่อเนื่องก็อาจจะยกระดับขึ้นมาเป็น พ.ร.บ.ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น