ปมแก้ รธน. ศาลเล็งใช้หลักหักล้างข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แก้เสียงเท่ากัน ลือฝ่ายผู้ถูกร้องเตรียมคุ้ยถ้อยคำชี้นำ “นุรักษ์-สุพจน์” หรือกดดันให้ชวดนั่งพิจารณาเหมือน “จรัญ” แต่ไม่ตัดสิทธิ์วัดดวงที่ประชุมคณะตุลาการจะเล่นด้วยหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีแหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า หลังจากที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะนั้น ทำให้มีตุลาการที่เป็นองค์คณะวินิจฉัยคำร้องนี้เหลือเพียง 8 คน ส่งผลให้การลงมติวินิจฉัยอาจเกิดปัญหาเสียงเท่ากัน ซึ่งในข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ประธานออกเสียงชี้ขาดได้เหมือนกับ กกต. ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งให้อำนาจไว้ แต่ในแนวปฏิบัติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา หากเกิดปัญหาดังกล่าวก็จะใช้วิธีอภิปรายเพื่อนำไปสู่การลงมติวินิจฉัยต่อไป โดยจะเป็นการนำประเด็นข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงมาอภิปรายหักล้างจนโน้มน้าวให้เกิดข้อยุติที่เป็นเสียงข้างมาก หรือเสียงเอกฉันท์
แต่ทั้งนี้ ในร่างข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีศาลรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาได้มีบทบัญญัติที่เป็นการแก้ไขปัญหานี้ไว้ว่า กรณีเสียงลงมติตุลาการเท่ากัน ให้ยกประโยชน์ให้แก่ผู้ถูกร้อง แต่ข้อกำหนดนี้จะยังไม่นำมาใช้กับการลงมติในคดีนี้เนื่องจากยังไม่มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า ฝ่ายผู้ถูกร้องได้เตรียมจะกดดัน หรือใช้วิธีเดียวกับที่ดำเนินการต่อนายจรัญ เช่น นำถ้อยคำแสดงความคิดเห็นของนายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ร.50 มาชี้นำให้ทั้งสองตุลาการแสดงแนวทางในการวินิจฉัยของตนเองออกมา หรือยื่นหนังสือคัดค้านการเป็นองค์คณะพิจารณาคดีเพื่อให้ทั้งคู่ต้องหลุดจากการเป็นองค์คณะพิจารณาคดี แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะตุลาการจะพิจารณาด้วยว่าจะอนุญาตหรือไม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 216 ระบุว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น้อยกว่า 5 คน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้