xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.แนะรัฐสภาทำตามคำสั่งศาล จวก รมว.ไอซีทีจ้อแท็บเล็ตผิดสเปกไม่เป็นไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ว.ระยอง แนะรัฐสภาทำตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องรีบแก้ รธน. ด้าน ส.ว.เพชรบุรี ซัด “อนุดิษฐ์” บอกแท็บเล็ตผิดสเปกไม่เป็นไร จวกรัฐโกงเสียเอง จี้นายกฯ มีธรรมาภิบาล ขณะที่ ส.ว.สงขลาแนะคลัง-เกษตรลงแก้ราคายางต่ำ อย่ายึดติดราคาต่างชาติ

วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เมื่อเข้าสู่การหารือ นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการลงมติวาระ 3 แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมายังสภาฯ นั้น ตนเห็นว่าขณะนี้ยังเกิดปัญหาในเรื่องทางกฎหมายว่าการยื่นคำร้องของผู้ทราบการกระทำจะต้องร้องต่ออัยการสูงสุดก่อน หรือสามารถโดยตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงประเด็นคำวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และส่อการล้มล้างการปกครองหรือไม่ก็ยังมีคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น คิดว่าควรทำตามศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น่ามีความจำเป็นจะต้องรีบร้อน ซึ่งตนเป็นห่วงประธานรัฐสภาด้วย เพราะไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าการฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบั้นปลายอย่างไร

ด้าน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า กรณีการสั่งซื้อแทบเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 400,000 เครื่อง ตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยล็อตแรกมาแล้ว 2,000 เครื่อง กลับพบผิดสเปกถึง 2 ประการ 1. ขาปลั๊กสายไฟ 3 ขา เป็น 2 ขา 2. ใบรับรองการแพทย์รังสีของแท็บเล็ตก็ยังไม่มี สิ่งที่ตนรับไม่ได้อย่างยิ่ง คือ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กลับระบุว่าไม่เป็นไร ขณะนี้ประเทศจีนได้ผลิตแท็บเล็ตเตรียมไว้พร้อมหมดแล้ว 400,000 เครื่อง ผิดพลาดแค่นี้เล็กน้อยไม่ใช่ประเด็นหลัก ซึ่งไม่สบายใจว่าการที่นักการเมืองกลับไปยุ่งเกี่ยวกับหน้าที่ข้าราชการที่ดูแลสเปกทีโออาร์ แล้วเช่นนี้ที่รัฐบาลก็มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันจะตอบเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาลนี้กลับทำเสียเอง ปากไม่พูดแต่การกระทำทุจริตแทน ซี่งการทุจริตเล็กๆ ก็สามารถก้าวไปสู่การคอร์รัปชันที่ใหญ่ได้แล้ว จึงอยากฝากไปยังนายกฯ ให้การปกครองเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล และโปร่งใสด้วย

ขณะที่ นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา กล่าวว่า กรณีราคายางพาราตกต่ำถึงกิโลกรัมละประมาณ 80 บาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง เพราะโดยปกติกิโลกรัมละ 100 บาท ก็เป็นราคาที่เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็ได้มีนโยบายช่วยเหลือซึ่งใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท กับโครงการสวนยาง (อสย.) เพื่อเข้าไปดูแลและรับซื้อยางจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั้งหลาย รวมถึงให้งบประมาณกับ ธ.ก.ส.เพื่อไปส่งเสริมเงินกู้แบบปลอดดอกเบี้ยแก่สถาบันเกษตรกรต่างๆในการรองรับแปรรูปยางพารา แต่เกิดปัญหาอุปสรรคมากทำให้ความก้าวหน้าน้อยในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูก-แปรรูปยางพารา ซึ่งก็อยากถามไปยังกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงไปช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอยากเรียกร้องว่าอย่าไปยึดติดกับราคายางพาราในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น ซี่งควรจำหน่ายไปยังประเทศอื่นบ้าง เช่น อินเดีย มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบกับราคายางพาราไทยโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น