“พยาบาล” ร้องขอความเป็นธรรม วอนรัฐบาลช่วยคืนตำแหน่งซี 8 ระดับบริหาร ชี้เหตุพยาบาลรัฐขาดแคลนเพราะขาดขวัญกำลังใจ แนะเร่งบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้กับลูกจ้างใน รพ.ชุมชนทั่วประเทศ เผยผลวิจัยชี้คุณภาพชีวิตพยาบาลแย่ ทั้งป่วยเป็นมะเร็ง-ครอบครัวแตกแยก โอดร้องผ่านหลายหน่วยงานแต่ไม่เป็นผล ขู่หากยังไม่คืบเตรียมนัดชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางจงกล อินทสาร ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงกรณีกลุ่มวิชาชีพพยาบาลยื่นหนังสือต่อนายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม ในการบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้กับพยาบาลอัตราจ้างในโรงพยาบาลชุมชน จำนวนกว่า 20,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ รวมทั้งปัญหาการตั้งแต่ตำแหน่งพยาบาลชำนาญการพิเศษ นางจงกลกล่าวว่า เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันปัญหาพยาบาลขาดแคลนกำลังเกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดปัญหาจำนวนพยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ส่งผลต่อการให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการขาดแคลนบุคลากรพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ปัญหาการไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระบบราชการ และความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเติบโตในสายวิชาชีพ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามในการเคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไข แต่พบว่ายังไม่คืบหน้า จนกลายเป็นความกดดัน และคับข้องใจของกลุ่มพยาบาลเป็นอย่างมาก และหากปัญหายังคงคาราซังอยู่เช่นนี้ กลุ่มพยาบาลที่ได้รับผลกระทบอาจจะต้องมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อให้สังคมหันมามองและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวบุคลากรพยาบาลโดยตรงเท่านั้น แต่หมายถึงคุณภาพการให้บริการต่อประชาชนอีกด้วย
ระบบห่วยทำพยาบาลรัฐหายครึ่งต่อครึ่ง
นางจงกลกล่าวว่า ขณะนี้ชมรมฯ รวมไปถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้อง กำลังหาช่องทางที่จะให้รัฐบาล หันมาแก้ไข 2 ประเด็นหลักนี้ ประเด็นแรก เรื่องของการบรรจุตำแหน่งนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อการขาดแคลนบุคลากรพยาบาล เนื่องจากพยาบาลต่างขาดขวัญและกำลังใจ เนื่องจากไม่มั่นใจในความมั่นคงของวิชาชีพ เพราะไม่ได้รับการบรรจุเป็นราชการ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการลดขนาดข้าราชการของรัฐบาล ทำให้ไม่มีตำแหน่งที่จะสามารถบรรจุพยาบาลใหม่ๆ ได้ ดังนั้นทำให้กลุ่มพยาบาลเหล่านี้เลือกที่จะออกไปทำงานในสถานพยาบาลอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลเอกชน หรือสถานพยาบาลในบริษัท โรงงานอุตสาหกรรม แทนการทำงานในโรงพยาบาลรัฐ เพราะนอกจากจะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าแล้ว ยังเป็นงานสบายกว่าการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ปีแรกของพยาบาลที่เข้าใหม่จะมีพยาบาลหายไปจากระบบราชการถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และ ในปีที่ 2 จะมีพยาบาลหายจากระบบไปจากที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นในปีที่ 3 จะเหลือพยาบาลในระบบราชการอยู่เพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะต้องหาคนเข้ามาใหม่ และต้องคอยฝึกคนใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจะได้พยาบาลที่ได้รับการฝึกงานจากโรงพยาบาลรัฐไปแล้ว คุณภาพการทำงานระหว่างคนมีประสบการณ์แล้ว ย่อมดีกว่าคนที่ฝึกใหม่แน่นอน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพยาบาลเหล่านั้นถูกฝึกไปจากโรงพยาบาลของรัฐทั้งสิ้น เพราะพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชน จะต้องดูแลคนไข้ได้หลายอย่าง มีประสบการณ์มากกว่าเยอะมาก แต่กลับเป็นว่าเมื่อเราฝึกคนแล้วเขาก็ไม่อยู่ เพราะไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ขาดความความมั่นคง ผลกระทบจึงเกิดขึ้นกับทั้งโรงพยาบาลรัฐเอง และส่งไปถึงประชาชนด้วย” นางจงกลกล่าว
ลดตำแหน่งดองพยาบาลระดับบริหาร
ส่วนการเคลื่อนไหวในประเด็นที่ 2 นางจงกลกล่าวว่า เป็นเรื่องของความก้าวหน้าในวิชาชีพพยาบาลที่ถูกละเลยซึ่งแตกต่างกับวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ทั้งนี้ในส่วนของวิชาชีพพยาบาลนั้น ในอดีตส่วนใหญ่เมื่อได้รับการบรรจุจะเริ่มตั้งแต่ระดับ 3 หรือปัจจุบันเรียกว่า ตำแหน่งพยาบาลปฏิบัติการ และหากทำงานจนมีประสบการณ์ และมีผลงานด้านวิชาการเพียงพอ ก็จะได้เลื่อนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นระดับ 7 หรือพยาบาลชำนาญการพิเศษในปัจจุบัน ซึ่งในระบบดังกล่าวมีการดำเนินการมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 กลุ่มของผู้บริหารพยาบาลชุมชน จึงมีการพูดคุยกันว่า ที่ผ่านมาในการทำงานของผู้บริหารพยาบาลชุมชน ที่ต้องรับผิดชอบดูแลองค์กรทั้งหมดตลอด 24 ชั่วโมง แต่กลับปรากฎว่า ระดับตำแหน่งกลับเท่ากันหมดกับกลุ่มพยาบาลในระดับรองๆ ลงไป ส่งผลต่อการทำงาน เพราะเมื่อมีผู้บริหารเกษียณอายุราชการหรือลาออกแล้ว จึงไม่มีใครอยากจะขึ้นมารับตำแหน่งนี้ เพราะไม่อยากรับผิดชอบ และตำแหน่งหน้าที่ที่เป็นอยู่ก็เป็นระดับเดียวกัน ความก้าวหน้าอื่นจึงไม่จำเป็นต้องมี
ดังนั้นจึงกลายเป็นปัญหาทำให้หาบุคลากรด้านการบริหารในระดับสูงขึ้นมาไม่ได้ เพราะทุกคนพอใจที่จะอยู่ในหน้าที่เดิมมากกว่า จนเป็นเหตุให้มีแนวคิดต่อการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ โดยมีการรวมตัวกันเพื่อหาทิศทางการขับเคลื่อนหาช่องทางว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้วิชาชีพพยาบาลมีความก้าวหน้า กลุ่มผู้บริหารการพยาบาลจึงได้ต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวมาตลอด
จนในที่สุดมีการประกาศให้ หัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนสามารถขึ้นสู่ระดับ 8 หรือตำแหน่งพยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษได้ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีก เมื่อมีเงื่อนไขว่า หากจะมีคนขึ้นตำแหน่งนี้ได้นั้น จะต้องรอจนกว่าจะมีตำแหน่งว่างที่เกิดจากการลาออก หรือเออรี่รีไทน์ แล้วยุบตำแหน่งนั้น เพื่อนำเงินมาใช้ในกับตำแหน่งของพยาบาลชำนาญการพิเศษ เท่ากับว่าคนจำนวนลดลง แต่งานเท่าเดิม ในขณะที่ในกลุ่มของแพทย์ กลับไม่ต้องทำเช่นนั้น สามารถขยับขึ้นไปได้เลย ซึ่งตอนนั้นมีผู้บริหารการพยาบาลในระดับหัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ที่ได้ขึ้นถึงระดับตำแหน่งพยาบาลผู้ชำนาญพิเศษได้จำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังขาดอยู่อีกถึง 300 กว่าตำแหน่ง
ร้อง กก.สิทธิฯ ช่วย-เสนอ ก.พ.ทบทวน
“เราจึงพยายามหาช่องทางจะทำอย่างไร เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงนำเรื่องทั้งหมดไปยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นปีในการที่คณะกรรมการสิทธิฯ ตีความ สรุปว่า กรณีนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมจริงๆ จากนั้นเราจึงนำเรื่องเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ทบทวน และขอให้แก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิชาชีพ คือทุกวิชาชีพจะต้องมีการเติบโตได้ โดยไม่มีความเหลี่อมล้ำ แต่ระหว่างนั้นกระทรวงสาธารณสุข กลับมีคำสั่งเรียกกลับตำแหน่งว่างทั้งหมดเพื่อไปใช้ในการบรรจุแพทย์และเภสัชกร ยิ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับกลุ่มพยาบาลมากขึ้นไปอีก ซึ่งกรณีนี้เราก็เคยไปยื่นเรื่องที่ศาลปกครองมาแล้ว แต่ศาลไม่รับฟ้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นการยื่นในช่วงเกิดปัญหาใหม่ๆ ถือว่าเป็นการรับสภาพ” นางจงกลกล่าว
กมธ.สาธารณสุขสั่ง ก.พ.- สธ.ศึกษาแต่ไม่คืบ
หลังจากนั้นกลุ่มพยาบาลจึงนำเรื่องนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข รวมทั้งยื่นหนังสือต่อไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำให้คณะกรรมาธิการฯ เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกันเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ผลการประชุมในวันนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ก.พ.กับกระทรวงสาธารณสุข ไปหารือกันในประเด็นนี้ แม้ทางก.พ.จะระบุว่า หากดำเนินการจะต้องดำเนินการกับทุกสายวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข ที่มีปัญหาเดียวกันก็ตาม โดยคณะกรรมาธิการฯ ให้เวลาทั้งสองหน่วยงาน 2 สัปดาห์กลับไปศึกษาหาแนวทาง เพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มพยาบาล แล้วให้กลับมารายงานผล แต่หลังจากนั้น 5 สัปดาห์ กลุ่มผู้บริหารการพยาบาลได้ติดตามผลก็ได้รับทราบว่า ทางก.พ.และกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานกลับมายังคณะกรรมาธิการฯ ว่า ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นขอเวลาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มีการรายงานข้อมูลในทางลับว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวกับทุกสายวิชาชีพ ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะกลุ่มของพยาบาลกลุ่มเดียวเท่านั้น จึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มพยาบาลเกิดความข้อสงสัย และความคับข้องใจอีกครั้งจนเป็นสาเหตุของการนำมาซึ่งการเรียกร้องให้กลุ่มพยาบาลที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมออกมารวมกลุ่มเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง
ทางออกสุดท้ายหยุดงานประท้วง
นางจงกลกล่าวอีกว่า เนื่องจากขณะนี้ทั้งสองประเด็นยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้ว่า จะมีความพยายามในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพยาบาลตลอดมา ปัญหาจึงกำลังขยายวงออกไปอย่างมาก จากความกดดันของพยาบาลทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ในกลุ่มผู้บริหารเท่านั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ผลประโยชน์ตอบแทนที่พยาบาลจะได้รับเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่ได้ และต้องสูญเสียไปเป็นเวลานาน ทำให้พยาบาลรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม หากเปรียบเทียบในระหว่างวิชาชีพด้านสาธารณสุขด้วยกัน ขณะนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากไม่ได้คำตอบกลุ่มพยาบาลก็อาจจะต้องเลือกการออกมาชุมนุม หรือนัดหยุดงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้เป็นทางเลือกสุดท้าย โดยการหยุดงานดังกล่าวจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาจริยธรรมของการพยาบาล
“ตอนนี้เราได้แต่บอกกับเพื่อนพยาบาลทั่วประเทศว่า อย่าเพิ่งเดินขบวน อย่าเพิ่งหยุดงาน เพราะมุมมองของคนทั่วไป ภาพคนที่ให้บริการด้านชีวิตมาเดินขบวนย่อมเป็นภาพติดลบอย่างแน่นอน เราจึงพยายามหาแนวทางในการเจรจาให้ได้ผลมากที่สุด เพื่อหาทางขับเคลื่อนปัญหา ตอนนี้รัฐมนตรีสาธารณสุขรับปากว่าจะดูแล เราก็จะต้องดูก่อน แล้วทบทวนว่าจะทำอย่างไร หากก.พ.อิดออด ทางที่ดีก็ต้องให้เรื่องเข้าครม.ให้ได้ แต่ยังไม่มีช่องทาง ส่วนการเดินขบวน หยุดงาน ผละงานจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำ โดยจะไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อคนไข้ที่ป่วยหนัก หรือมีผลต่อชีวิต แต่จะใช้พยาบาลในหน่วยงานอื่นๆ แทน เพราะเรายังมีจริยธรรมในวิชาชีพ” นางจงกลระบุ
อยากร้องนายกฯ ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าการเคลื่อนไหวมีเส้นตายที่แน่นอนหรือไม่ นางจงกลกล่าวว่า เนื่องจากในสายวิชาชีพตอนนี้เกี่ยวเนื่องกับการเป็นข้าราชการ หากจะดำเนินการใดๆ จำเป็นจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยจะต้องให้ผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มพยาบาลเอง เคยเดินทางไปปิดกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว และได้รับการตอบรับจากผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ว่าจะดูแล และให้ความหวังทำให้ทั้งหมดสลายตัวกลับไป ดังนั้นหากจะดำเนินการอะไรอีกครั้งจำเป็นที่จะต้องมีการวางระบบให้ดี และหารือผู้ใหญ่ด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกันในกลุ่มที่เคลื่อนไหวว่า ต้องการที่จะเข้าขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้หญิงเช่นเดียวกันแต่ผลสรุปต้องการให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนก่อน
ระบุ นศ.พยาบาลตอนนี้เรียนเพราะไม่มีทางเลือก
นางจงกลกล่าวต่อว่า อยากให้สังคมหันมาให้ความสนใจประเด็นปัญหาเรื่องของสวัสดิการ ค่าตอบแทน ของพยาบาล เพราะที่ผ่านมามักถูกมองข้าม ซึ่งอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องทำงานในสภาวะกดดันอยู่ตลอดเวลา และต้องอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของผู้ป่วยทุกคนว่า จะต้องได้รับการบริการที่ดี แต่หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ปัญหาคุณภาพของพยาบาลกลับลดลง ในอดีตผู้ที่จะเข้าเรียนพยาบาลจะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบแข่งขันและคนที่เป็นหัวกระทิเท่านั้น ที่จะมีโอกาสเข้าเรียนเป็นพยาบาล แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป
และสาเหตุที่กลุ่มของวิชาชีพพยาบาลไม่ได้รับการดูแลเรื่องสวัสดิการ โอกาสก้าวหน้าเติบโตทางวิชาชีพนี่เอง ทำให้การเรียนการสอนวิชาชีพพยาบาลขณะนี้จะมีเพียงกลุ่มของเด็กที่ไม่มีทางเลือก ไปทางอื่นไม่ได้ เกรดคะแนนต่ำ เข้ามาเรียนด้วยแค่ความหวังว่าจะไม่ตกงาน เพราะบุคลากรขาดเยอะ แต่เมื่อเรียนจบออกมาจึงไม่ได้พยาบาลที่มีคุณภาพ และหากปัญหาพื้นฐานทั้งหมดของพยาบาลไม่ได้รับการแก้ไข สถานการณ์ของวิชาชีพพยาบาลก็จะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป
“คนเข้าสู่ระบบจะมีคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ และจะส่งผลต่อคุณภาพการบริการให้กับประชาชนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่รัฐบาลเปิดให้มีโครงการ 30 บาท ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาที่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น จากเดิมที่ไปตามคลินิก โรงพยาบาลเอกชน เพราะเป็นการรักษาฟรี พยาบาลจึงต้องรับงานหนักจนโหลด เพราะรัฐบาลไม่ได้เตรียมการเรื่องบุคลากรรองรับให้เหมาะสมปัญหาจึงจะตามมาอย่างน่าเป็นห่วง เพราะพยาบาลต้องทำงานในทุกมิติ ตั้งแต่ ส่งเสริม ฟื้นฟู ป้องกัน และรักษา”
คุณภาพชีวิตแย่ป่วยมะเร็งอื้อ-หย่าร้างมากที่สุด
“มีงานวิจัยออกมาอย่างชัดเจนว่า วันนี้พยาบาลไทยมีอัตราส่วนของการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น สาเหตุเพราะไม่มีเวลาพักผ่อน ในขณะเดียวกันก็มีอัตราการหย่าร้างที่สูงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะว่าไม่มีเวลาที่จะให้ความสุขกับสามีได้ เพราะต้องขึ้นเวรดึกๆ เวลาให้กับครอบครัวน้อย อัตราการเป็นโสดก็สูง เพราะชีวิตต้องอยู่กับการทำงาน จนกระทั่งบางคนบอกว่า ถึงจะได้ค่าโอที ค่าขึ้นเวร แต่พวกเขาไม่เอาอยากขอแค่เวลาพักผ่อนมากกว่า เพราะพยาบาลทำงานหนักเกินไป และดูเหมือนจะเป็นวิชาชีพที่ถูกมองว่าต่ำกว่าวิชาชีพอื่นในสายเดียวกัน ทั้งแพทย์ เภสัชกร และอื่นๆ”
โอดค่าชีวิตพยาบาลกับหมอไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ นางจงกลยังได้กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ งานด้านการพยาบาลของไทยในขณะนี้ว่า รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มพยาบาลมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพด้านสุขภาพด้วยกัน เช่นเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างมาก โดยเฉพาะระหว่างแพทย์กับพยาบาล เช่นเรื่องของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แพทย์จะได้รับตั้งแต่ 10,000-70,000 บาทขึ้นอยู่กับอายุงาน ขณะที่พยาบาลได้ในหลักพันบาทเท่านั้น หรือ ค่าเสี่ยงภัยหรือค่าชีวิตของแพทย์กับพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็มีอัตราไม่เท่ากัน
ซึ่งในความเป็นจริงค่าชีวิตของคนในทุกวิชาชีพ หรือทุกคนควรจะเท่ากัน และพยาบาลเองถือว่าเป็นด่านแรกที่ต้องปะทะกับคนไข้ ซึ่งล่าสุดจะเห็นว่าพยาบาลถูกยิงเสียชีวิตที่จ.สระแก้ว รวมถึงการบรรจุงานตามข้อเรียกร้อง เพราะมิฉะนั้น พยาบาลจะทำงานในโรงพยาบาลของรัฐเพียง 1 ปี ก่อนที่จะออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ทำให้บุคลากรในโรงพยาบาลรัฐหรือชุมชนมีบุคลากรไม่เพียงพอ และรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โรงพยาบาลจะต้องหาบุคลากรเอง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ถึงแม้จะมีเงินจ้างแต่ก็ไม่ค่อยมีคนเข้ามาทำ เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนถึงกับไปจองตัวนักศึกษาพยาบาลตั้งแต่เรียนไม่จบ และยังมีเงินกินเปล่าให้ด้วยในหลักแสนบาท หรือบางแห่งก็มีการให้หัวคิวหากหาพยาบาลมาให้ได้ ทำให้โรงพยาบาลรัฐสู้ไม่ได้ คนที่ทำอยู่จึงต้องทำงานหนักเกินความเหมาะสมนั่นเอง
“เรื่องอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่หนักมาก ในอดีตบางคนแม้จะท้องใกล้คลอดก็ยังต้องมาทำงานดูแลคนไข้ เดินทั้งวัน คนที่มีครอบครัวแล้วก็ยังต้องห่างกับครอบครัว อยากจะย้ายตามสามีก็ไปไม่ได้เพราะไม่มีคนมาแทน เป็นเรื่องที่คับข้องใจอย่างมากของพยาบาล แต่กลับไม่ได้รับการดูแล และในสายงานเดียวกัน วิชาชีพพยาบาลยังถูกมองว่าต่ำต้อยที่สุด ทั้งที่เราทำงานหนักที่สุด การเคลื่อนไหวครั้งนี้เราเพียงอยากให้สังคมหันมาให้ความสำคัญกับอาชีพพยาบาลบ้าง และรัฐบาลเองก็ควรจะดูแลเรื่องนี้ ซึ่งหากเรื่องยังไม่คืบหน้าทางเลือกสุดท้ายก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะตอนนี้พยาบาลในอัตราจ้างจำนวนกว่า 20,000 คนเขาอึดอัดและพร้อมที่จะเคลื่อนไหว” นางจงกลกล่าวในตอนท้าย