โฆษก ชทพ.นำประชาคมผู้ประสานงานป้องกันและบรรเทาอุบัติภัย ปทุมฯ ยื่น มท.1 จี้รัฐเดินหน้าโครงการป้องกันน้ำท่วม ขอความชัดเจนใช่พื้นที่รับน้ำหรือไม่ ถามมาตรการเพียงพอป้องกันหรือยัง แนะอย่าเลือกปฏิบัติ วอนนายกฯ สั่งให้ทันเวลา และเยียวยาทั่วถึง ด้าน “ยงยุทธ” คาด 1 เดือนเคลียร์เงินจบ เล็งสำรวจความเสียหายอีกรอบหลัง 15 มิ.ย. แย้มหยิกสะดือผู้ว่าฯ จ่อฟันข้าราชการด้วย
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันตก ได้นำกลุ่มประชาคมผู้ประสานงานป้องกันและบรรเทาอุบัติภัย (ปปอ.) จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันตก ซึ่งนำโดยนายอรรถพล อนุโนรส ประธาน ปปอ. เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เพื่อให้รัฐบาลเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ กลุ่ม ปปอ.มีข้อกังวลใจต่อรัฐบาล 5 ข้อ คือ 1. รัฐบาลยืนยันได้หรือไม่ว่า พื้นที่ จ.ปทุมธานีจะไม่อยู่ในแผนที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำ หรือพื้นที่ให้น้ำผ่าน 2. หากรัฐบาลจัดให้ จ.ปทุมธานีเป็นพื้นที่รับน้ำ รัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการแก้ไข 3. มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในขณะนี้เพียงพอที่จะป้องกันปัญหาอุทกภัยในจังหวัดปทุมธานีหรือไม่ และขอให้ดำเนินการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกพื้นที่อุตสาหกรรม หรือพื้นที่เกษตรกรรม 4. ขอเรียกร้องให้นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งโครงการป้องกันน้ำท่วมให้เสร็จทันเวลา และ 5. ขอให้นายกฯสั่งการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เยียวยาผู้ประสบภัยดูแลอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็ว
โดย นายอรรถพลกล่าวว่า จ.ปทุมธานี ฝั่งตะวันตก ขาดการช่วยเหลือมานาน ส่วนใหญ่มักจะไปดูแลฝั่งตะวันออกเนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งตนก็เข้าใจ แต่ขณะเดียวกัน ชุมชนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกก็จมน้ำ ถึงวันนี้พื้นที่ จ.ปทุมธานีได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำส่วนปลาย แต่ปรากฏว่าไม่มีงบประมาณมาขุดลอกคูคลองหรือทำอะไรทั้งสิ้นมากว่า 6 เดือนแล้ว เราจึงสงสัยว่าหน่วยงานของรัฐลืมพวกเราไปหรือเปล่า ด้านนายยงยุทธได้รับเรื่องดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาต่อไป
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ยังเป็นปัญหาว่า ต้องมีการทำความเข้าใจกัน ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากวันที่ 15 มิ.ย.ในการสำรวจความเสียหายอีกครั้ง โดยในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ปล่อยให้มีปัญหาในเรื่องนี้กำลังจะมีการหยิกสะดือพวกเขา ถือเป็นปัญหาซึ่งตนได้มีการกำชับไปแล้ว ส่วนเรื่องการกินค่าหัวคิวหากมีข้อมูลตนจะทำการติดตามทันที ทั้งนี้ความผิดพลาดส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น ซึ่งตนได้เตรียมมาตรการลงโทษไว้แล้ว