xs
xsm
sm
md
lg

“วัฒนา” แถ พ.ร.บ.ปรองดองไม่ขัด ม.309 อ้างแค่แก้ไข ไม่ได้ยกเลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัฒนา เมืองสุข (แฟ้มภาพ)
“วัฒนา เมืองสุข” อ้างเฉย พ.ร.บ.ปรองดองของ “พล.อ.สนธิ” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ม.309 เหตุเป็นเพียงการแก้ไข ไมได้ยกเลิก พร้อมยืนยันไม่มีการคืนทรัพย์สินให้ “นช.แม้ว”

วันนี้ (29 พ.ค.) นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อ้างว่าเนื้อหาสาระร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 แน่นอน เพราะมีเนื้อหารับรองต่อการกระทำใดๆ เสมือนเป็นการนิรโทษกรรม คุ้มครอง หรือให้การรับรอง แก่คนที่กระทำการปฏิวัติ หรือกลุ่มองค์กรใด ที่คณะปฏิวัติแต่งตั้งไว้จะไม่ถูกฟ้องกลับ หรือถูกเช็กบิลตามหลัง แต่ไม่ได้มีเนื้อหาที่ระบุเอาไว้ว่าการกระทำใดๆ ที่ กลุ่มเหล่านั้นกระทำไว้ ซึ่งจะแปลความง่ายๆ ได้ว่ามันถูกนั้นจะแก้ไขไม่ได้ เพราะทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าแม้แต่ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ยังสามารถแก้ไขได้

“ผมขอชี้แจงเรื่องนี้ให้เห็นภาพชัดเจนก็คือ การนิรโทษกรรมโดย พ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.สนธินั้นจะยกเลิกแต่เฉพาะกระบวนการที่องค์กรที่คณะปฏิวัติตั้งขึ้น เช่น กรณี คตส.ได้กระทำต่อบุคคล แต่ไม่ได้ยกเลิกการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า จะมีการฟ้องร้องใหม่หรือดำเนินคดีใหม่ กับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ได้”

นายวัฒนากล่าวว่า สิ่งที่ พ.ร.บ.ปรองดองมุ่งหมายนั้นก็คือการเข้าไปแก้ไขบรรดาสิ่งที่คณะปฏิวัติทำ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติธรรมเป็นหลัก ส่วนในรายละเอียดว่าจะยกเลิกหรือแก้ไขกรณีใดบ้างนั้นจะมีความชัดเจนในชั้นของการแปรญัตติ ส่วนเรื่องที่มีการพูดถึงกันเยอะ คือ จะนำไปสู่ผลให้คืนทรัพย์สินกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น ตนเองขอยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เพราะเนื้อหาของ พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นการคืนความชอบธรรมในทางอาญา แต่คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นการปรับหรือไม่ได้เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เป็นเรื่องของทางแพ่ง เพราะฉะนั้น คดีทรัพย์สิน จึงไม่ได้อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง

ส่วนที่ฝ่ายคัดค้านแย้งว่าการดำเนินคดีต่างๆ ที่กระทำโดยคณะต่างๆ ที่คณะปฏิวัติตั้งขึ้น องค์กรเหล่านั้นทำหน้าที่เพียงทำสำนวน เพื่อส่งฟ้องร้องต่อศาลให้ตัดสินคดีความ ตามกระบวนการปกติ จึงไม่ควรไปก้าวล่วงอำนาจตุลาการ หรือยกเลิกคำพิพากษานั้น นายวัฒนากล่าวว่า ในการทำคดีตามกฎหมายเขาใช้คำว่ากระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้น ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้ที่มีอำนาจก็ต้องมีอำนาจในการที่จะทำ รวมถึงต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

เพราะฉะนั้น หากยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบกันง่ายๆ เช่น การสลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา หากตนเองตั้งคณะทำงานให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ตั้งนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เป็นพนักงานสอบสวน ตั้งนายสุพร อัตถาวงศ์ ร่วมในคณะทำงาน อีกฝ่ายจะยอมหรือไม่ อีกทั้งในช่วงการปฏิวัตินั้นก็มี ป.ป.ช.ที่ดูแลเรื่องการสอบสวนทุจริตอยู่แล้ว เหตุใดจึงมีการไปตั้ง คตส.ขึ้นมาดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซ้ำซ้อนกับการทำงานของ ป.ป.ช. อีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.เพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง จะยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาประกบไปกับร่าง พ.ร.บ.ของ พล.อ.สนธินั้น นายวัฒนากล่าวว่า การยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกบขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นเพราะกลัวว่า ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างของ พล.อ.สนธิ จะถอนชื่อจนทำให้ร่างตกไป เพราะการที่จะขอถอนชื่อจากญัตติที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้น ต้องกระทำในที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และที่ประชุมใหญ่จะต้องอนุญาตก่อนด้วย ส่วนเหตุผลในการยื่นร่างประกบไปด้วยนั้นเพื่อเป็นการแสดงความเห็นด้วย หรือโหวตรับกับร่างที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ พล.อ.สนธินั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น