xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” แก้เกี้ยว! ร่างปรองดองช่วย “แม้ว” โบ้ยเพื่อ ปชช.-จนท.รัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจริญ จรรย์โกมล
รอง ปธ.สภาฯ ยันทำหน้าที่บรรจุร่างปรองดองเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ พุธนี้ แก้เกี้ยวสาระสำคัญไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพื่อช่วย “แม้ว” คนเดียว แต่หนุนนิรโทษกรรมประชาชน-เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องการชุมนุม รอลุ้นคำสั่ง ครม.ปิดสมัยประชุมหลัง 12 มิ.ย.

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดอง (พ.ร.บ.ปรองดอง) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ ว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. ตนได้ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องตามหลักกฎหมาย ข้อบังคับ และรูปแบบหรือไม่ ซึ่งได้พิจารณาเหมือนกฎหมายทั่วไป และได้สั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระเนื่องจากเรื่องนี้ผู้ยื่นมีความประสงค์ที่จะให้เป็นกฎหมายเร่งด่วน ตนก็ได้ตรวจสอบไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้บรรจุเป็นเรื่องด่วนสุดท้ายที่ 27 ซึ่งเรื่องนี้จะปรากฏในระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 30-31 พ.ค. แต่ถ้าหากจะพิจารณากันก็อาจจะไม่ถึงวันดังกล่าวอยู่ที่ทางสภาฯ จะพิจารณาเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมา เพราะตามข้อบังคับระบุไว้ว่ าการเปลี่ยนระเบียบวาระโดยการเลื่อนขึ้นมาให้เป็นมติของสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อถามว่าจะสร้างความขัดแย้งหรือไม่ เพราะยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นายเจริญกล่าวว่า ความเห็นในเรื่องนี้ต้องศึกษาในเนื้อหาของกฎหมายที่เสนอเข้ามาก่อน เท่าที่ตนได้ตรวจสอบเบื้องต้นในเนื้อหาที่เสนอเข้ามามีหลักสำคัญ 3 เรื่อง 1. เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง และการโฆษณาทางการเมือง ผู้ที่แสดงออกและผู้ที่ปฏิบัติ เช่น ส่วนราชการก็จะได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้ซึ่งในร่างก็ระบุว่าช่วงไหนถึงช่วงไหน 2. การที่ พล.อ.สนธิยึดอำนาจบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะปฏิวัติ หรือคำสั่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคคลที่ได้รับผลกระทบก็จะได้รับอานิสงฆ์จากกฎหมายฉบับนี้ 3. เรื่องของการคืนสิทธิการเลือกตั้งให้นักการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรค

เมื่อถามต่อว่าเนื้อหาครอบคลุมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายเจริญกล่าวว่า โดยหลักของกฎหมายไม่ได้ระบุแต่จะบอกว่าใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีผลอยู่ 3 เรื่อง ในแต่ละเรื่องที่ยกเว้นให้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นจะต้องดูเป็นเรื่องๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างจะเขียนครอบคลุมถึงไหนบ้าง ต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 8 มาตรา ซึ่งในมาตราที่ 7 จะเขียนไว้ว่าไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้อง เช่น บุคคลภายนอกไปทำละเมิดต่อบุคคลอื่นก็ไม่ตัดสิทธิให้คู่กรณีฟ้องร้องกันได้ ซึ่งทางแพ่งสามารถดำเนินการได้

ส่วนแนวโน้มปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินั้น นายเจริญกล่าวว่า อาจจะเป็นช่วงต้นเดือน มิ.ย.หลังจากที่มีการลงมติวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย. ในวันที่ 6-7 มิ.ย.ก็จะประชุมกันตามปกติ หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะนำเข้าประชุมในวันอังคารที่ 12 มิ.ย. และจะทราบว่าจะปิดสมัยประชุมเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง ครม.ก็ยังไม่ได้แจ้งมายังสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น