“กรุงเทพโพลล์” สำรวจความเห็นประชาชนพบ 68.8% เห็นว่า “การนิรโทษกรรม” ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศ แนะให้นักการเมืองเลิกนึกถึงผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง เลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภาจะทำให้ประเทศไทยเกิดความปรองดอง
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,180 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 37.7 ระบุว่ายังไม่เห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 28.5 ระบุว่าเริ่มเห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นแล้ว ส่วนร้อยละ 33.8 ระบุว่าไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความปรองดอง คือ นักการเมืองต้องเลิกนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ร้อยละ 26.7 รองลงมาคือ นักการเมืองต้องหันหน้าเข้าหากันเลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภา ร้อยละ 26.5 และคนไทยต้องเคารพและยึดกฎหมายของประเทศเป็นหลัก ร้อยละ 10.9
ส่วนการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทางการเมืองว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่นั้น ประชาชนร้อยละ 68.8 ระบุว่า ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา อคติยังคงมีอยู่ทุกฝ่าย แต่ละฝ่ายไม่ยอมกัน ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ และเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกของคนในชาติ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 31.2 ระบุว่าสามารถสร้างความปรองดองได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการให้อภัยกัน เรื่องคงจบ เป็นการเริ่มต้นใหม่โดยหันหน้ามาคุยกัน ให้โอกาสแก่ผู้ทำผิดได้กลับตัว เป็นต้น
สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อการออก พ.ร.บ.ปรองดองมีความจำเป็นต่อสังคมไทยเพียงใด พบว่า ประชาชนระบุว่าค่อนข้างจำเป็น ร้อยละ 35.4 และจำเป็นมาก ร้อยละ 24.9 ในขณะที่ระบุว่าไม่ค่อยจำเป็น ร้อยละ 19.3 และไม่จำเป็นเลย ร้อยละ 20.4
อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 51.5 ระบุว่ารัฐบาลยังไม่มีการสร้างความเข้าใจและรายละเอียดให้ชัดเจนถึงเหตุผล ความจำเป็น และกระบวนการในการออก พ.ร.บ.ปรองดอง ร้อยละ 40.4 ระบุว่า เข้าใจแต่ยังไม่ชัดเจน มีเพียงร้อยละ 8.1 ที่ระบุว่าเข้าใจชัดเจนแล้ว