xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” เตือน รมว.พลังงานขึ้นแก๊สหุงต้มซ้ำเติมประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้กรณี รมว.พลังงานขึ้นค่าแก๊สหุงต้ม 7.50 บาท ต.ค.นี้เป็นนโยบายที่ผิด เหตุจ่ายแพงกว่าต้นทุน ซัดซ้ำเติมประชาชนเดือดร้อน ส่วนโพลวันแรงงานชี้เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น เหตุราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ห่วงทำเงินเฟ้อเป็นภาระแบงก์ชาติ แนะรัฐบาลย้อนกลับไปดูปัญหาแรงงาน

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ถนนสุขุมวิท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เตรียมขึ้นค่าแก๊สหุงต้ม 7.50 บาท ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ว่าเป็นนโยบายที่ผิด เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ มีเพียงพอที่จะใช้ในครัวเรือนและภาคการขนส่ง จึงไม่มีเหตุผลที่คนไทยจะต้องจ่ายแพงกว่าต้นทุน โดยต้องจ่ายในราคาตลาดโลกตามที่ รมว.พลังงานออกมาระบุ และถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายเช่นนี้ก็เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งผลสำรวจทุกสำนักและที่ตนพบปะกับประชาชนก็ยืนยันตรงกันว่าความเดือดร้อนอันดับหนึ่งของประชาชนในขณะนี้ คือ ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ หากรัฐบาลยังกำหนดนโยบายผิดพลาด นอกจากทำให้ประชาชนเดือดร้อนแล้วยังกระทบต่อภาวะเงินเฟื้อและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจภาพรวมด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า วันนี้วันแรงงานก็มีการสำรวจความคิดเห็นพบว่า สภาพเศรษฐกิจของแรงงานไม่ดีขึ้น หลังจากมีการปรับค่าแรง 300 บาท 7 จังหวัด เพราะราคาสินค้าสูงขึ้นมาก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย การที่ รมว.พลังงานอ้างว่าจะต้องปรับราคาแก๊สหุงต้มให้เท่ากับภาคขนส่งที่ทยอยปรับไปก่อนหน้านี้และจะลอยตัวในที่สุดนั้นไม่มีเหตุผลรองรับ ตนยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมควรจ่ายในราคาลอยตัว แต่ภาคขนส่งและครัวเรือนไม่มีเหตุผลว่าจะจ่ายในราคาลอยตัวไปทำไม ประชาชนในประเทศควรใช้ในราคาต้นทุน ซึ่งขณะนี้ศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจหลายสำนักก็วิเคราะห์ตรงกันว่าทั้งค่าแรงขั้นต่ำ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อ เหมือนกับที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดว่า นโยบายของรัฐบาลไปเพิ่มต้นทุนสินค้าทุกขชนิด จึงต้องทบทวนท่าทีในเรื่องพลังงานและเร่งหามาตรการรองรับเกี่ยวกับผลกระทบค่าแรง 300 บาท

“ถ้ายังเดินนโยบายต่อไปเช่นนี้ก็เป็นห่วงว่าอาจมีผลต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และภาระจะตกอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับนโบบายดอกเบี้ย เป็นการเพิ่มภาระให้ภาคธุรกิจและประชาชน ในขณะนี้รัฐบาลควรย้อนกลับไปดูว่าปัญหาของผู้ใช้แรงงานที่ค้างคาอยู่มีอะไรบ้าง เช่น การปฏิรูประบบประกันสังคม ให้ได้ใช้สิทธิประโยชน์ดีขึ้น ตามแนวทางที่รัฐบาลที่แล้วได้จัดทำร่างกฎหมายไว้ และต้องมีการบริหารกองทุนสวัสดิการสังคมให้มีความโปร่งใส รวมทั้งให้แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เรื่องนี้สำคัญทั้งนั้น ไม่ควรมุ่งที่การขึ้นค่าแรงเท่านั้น และการขึ้นค่าแรงในขณะที่หลายฝ่ายยังไม่พร้อม ก็ต้องดูผลกระทบที่ตามมาด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น