“ส.ว.วันชัย” หวั่นรัฐขยายเวลาประชุมสภาออกกฏหมายนิรโทษ-ปรองดอง ยิ่งทำชาติขัดแย้ง แนะเพลาๆ กันบ้าง จะรีบเท่ไปไหน ส.ว.บุรีรัมย์จี้นายกฯ พูดอะไรบ้าง “ส.ว.ตวง” รัฐดูปมระหว่างบุคคลที่กลายเป็นกองกำลังออก พ.ร.บ.มาก็แก้ไม่ได้
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 20 สมัยสามัญนิติบัญญัติ โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา หารือว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมพิจารณาขยายเวลาการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ โดยอ้างว่ามีร่างกฎหมายที่ค้างในระเบียบวาระหลายเรื่อง หากเป็นความจริงคาดว่าจะไม่เป็นปัญหาใดๆ แต่กรณีที่มีข่าวว่าช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลอาจช่วงชิง ออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดอง หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ตนไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม หากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องจริง แม้ว่ารัฐบาลจะชนะด้วยเสียงข้างมาก ตนกังวลว่าจะสร้างความขัดแย้งในสังคมมากกว่า และอาจมีปัญหาบานปลาย จนส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลสะดุด กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สร้างปัญหาและถอยหลังลงคลองอย่างน่าเสียดาย เป็นการทำให้รัฐบาลและประชาชนเสียโอกาสในการเดินหน้าพาประเทศไปสู่ความสงบร่มเย็น
“ผมเห็นว่าบ้านเมืองกำลังไปได้ด้วยดี เพลาๆ หยุดกันเสียบ้างได้หรือไม่ ทั้งคนในและคนอยู่ต่างประเทศ ให้ประเทศหยุดหายใจไปบ้างสักระยะหนึ่ง หยุดการเคลื่อนไหว ให้รัฐบาลเขาได้ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อประชาชนกันก่อนได้ไหม ถามจริงๆ จะรีบเท่กันไปถึงไหน ผมวิตกกังวลกับประเด็นนี้อยากให้ได้รับทราบกัน” นายวันชัยกล่าว
ขณะที่ นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ หารือว่า ขณะนี้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ในบ้านเมืองพอสมควร และสาธารณชนเองก็กำลังรอรับฟังความคิดเห็น และท่าทีจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง เพราะท่านเองก็เคยประกาศเป็นทิศทางการปฏิบัติงานต่อรัฐสภาว่าการสร้างความปรองดองสมานฉันท์เป็นงานเร่งด่วน
ด้าน นายตวง อัทะไชย ส.ว.สรรหา หารือว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้นำปรองดอง และจะต้องนำในการแสดงออก ทั้งการกระทำ และนโยบาย สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าที่ได้มีการพูดคุยในปัจจุบัน และนายกรัฐมนตรีจะต้องนำไปสู่การกระทำ คือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลที่ขัดแย้งในบ้านเมือง ซึ่งความขัดแย้งระหว่างบุคคลได้กลายเป็นกองกำลังที่สะสมกองกำลังของตัวเองขึ้นมา เรื่องนี้รัฐบาลทราบดี
“ดูจากกรณีศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวอย่างว่า เมื่อรัฐไม่เป็นรัฐจะเกิดอะไรขึ้น และเมื่ออำนาจไม่มีอำนาจจะเกิดอะไรขึ้น และความเกรงกลัวต่อกฎหมายไม่มีอำนาจบังคับใช้จะเกิดอะไร ผมคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลฝ่ายความมั่นคงต้องกลับไปทบทวน ว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีกองกำลังเป็นของตนเอง มันยิ่งใหญ่มากกว่าความปรองดองที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออก พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งไม่สามารถปรองดองได้” นายตวงกล่าว