“อภิสิทธิ์” ระบุพรรคเพื่อไทยเสนอยกเลิกศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นข้อห่วงใยตั้งแต่ต้นของ ปชป. และเป็นเหตุผลที่ต้องมีการแปรญัตติให้มั่นใจเรื่องความมีอยู่และเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ และองค์กรตรวจสอบ ชี้รัฐบาลที่มีปัญหากับระบบตรวจสอบเพราะบริหารงานไม่โปร่งใส พร้อมหนุนให้มี ส.ส.ร.จังหวัดละ 2 คน เว้นจังหวัดขนาดเล็ก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้ยุบศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ไปเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา โดยควรจะเหลือองค์กรอิสระเท่าที่จำเป็นนั้น เป็นสิ่งที่พรรคมีความห่วงใยมากที่สุด และได้ย้ำตั้งแต่ตอนต้นตอนที่พูดถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า นี่คือความห่วงใยของเรา ที่สุดท้ายกำลังมาเปลี่ยนหลักการในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร และเป็นเหตุผล 1 ใน 3 ประเด็นที่จะควรจะต้องมีการแปรญัตติก็คือ การสร้างหลักประกันในเรื่องของการเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ และองค์กรตรวจสอบ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องรอดูความชัดเจนเพิ่มเติมก่อน แต่ย้ำว่าความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสอบฝ่ายตุลาการนั้นยังเป็นสิ่งสำคัญในระบบการเมืองที่จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสมไม่ให้คนมีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ผิด
“ต้องรอดูความชัดเจนเพิ่มเติม แต่ว่าความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสอบตุลาการนั้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะทำให้ระบบการเมืองของเรามีการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม ไม่ให้คนที่มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่ถ้าเริ่มต้นจากทัศนคติที่ว่า องค์กรเหล่านี้มาเป็นปัญหา ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ก็คงจะไม่ถูกต้อง”
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า แม้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอาจมีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินบ้าง แต่ทุกครั้งที่มีผลกระทบก็สืบเนื่องมาจากการบริหารนั้นไปสร้างปัญหาเอาไว้เอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีผลกระทบนั้นก็เป็นการสืบเนื่องมาจากการบริหารเองไปสร้างปัญหาเอาไว้ ดังนั้น ทั้งศาลปกครอง และองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. และ กกต.ก็ล้วนเป็นองค์กรที่จะต้องมีอยู่ แต่การปรับรูปแบบบางประการก็สามารถกระทำได้
สำหรับประเด็นจำนวน ส.ส.ร.150 คนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากมีการยอมรับได้ก็ควรพิจารณาข้อเสนอของตนด้วย ที่จะให้มีจังหวัดละ 2 คน โดยยกเว้นบางจังหวัดที่มีขนาดเล็ก แต่ประเด็นนี้มองว่าไม่ใช่อยู่ที่จำนวน ส.ส.ร.ที่ต้องการให้มีเพิ่มขึ้น แต่ต้องการให้เกิดความหลากหลาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมาก แต่เป็นกติกาที่ต้องใช้ให้เกิดความสมดุลของสังคม