xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.ตื่น! ถกป้องกันน้ำท่วม “อิทธพร” แนะทุกฝ่ายใช้บทเรียนปี 54 ร่วมมือจริงจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (แฟ้มภาพ)
ทอ.ประชุมยุทธศาสตร์ป้องกันน้ำท่วม ผบ.เผยเน้นบล็อกฐานทัพอากาศ รับของบ ครม.ไป 2 ส่วนได้มาแล้วด้านซ่อมแซมฟื้นฟู รออนุมัติส่วนยุทธภัณฑ์ เฝ้าระวังลางบอกเหตุตั้งแต่นครสวรรค์ ชี้หากน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาทีโดนแน่ แนะทุกฝ่ายดูบทเรียนปี 54 ร่วมมือจริงจัง

วันนี้ (13 ก.พ.) ที่หอประชุมกองทัพอากาศ เมื่อเวลา 08.30 น. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่องยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของกองทัพอากาศ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยของกองทัพอากาศร่วมกัน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการสำรวจและวางแผนการฟื้นฟูหน่วยงานของกองทัพอากาศ ณ ที่ตั้งดอนเมือง ร่วมกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ โดยในการสัมมนาได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ด้านการป้องกันอุทกภัยมาร่วมให้ ความรู้ และความคิดเห็น เช่น ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ผู้แทนจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร และผู้แทนท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งการสัมนาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ก.พ.นี้

พล.อ.อ.อิทธพรกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาแม้กองทัพอากาศจะมีแผนเผชิญเหตุ แต่เนื่องจากมีมวลน้ำมหาศาล และพื้นที่ของกองทัพอากาศเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นด้วย ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สามารถจะป้องกันได้ด้วยหน่วยงานเดียว จึงต้องมีการเตรียมการในวันนี้ ส่วนแผนป้องกันจะเน้นหนักในเรื่องการป้องกันพื้นที่ฐานทัพอากาศดอนเมือง แต่กองทัพอากาศไม่สามารถป้องกันด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เพราะมีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ร่วมกับท่าอากาศยานไทย และการระบายน้ำจะต้องระบายออกจากคลองสอง และคลองเปรมประชากร ซึ่งเราจะมีการเขียนแผนขึ้น ถ้ามีส่วนงานไหนเกี่ยวข้องก็จะมีการนำเรียนขึ้นไปเพื่อให้เห็นในภาพรวมว่า กองทัพอากาศมีแผน และขอการรับการสนับสนุนอะไรบ้าง ส่วนงบประมาณที่กองทัพอากาศขอรัฐบาลไปมี 2 ส่วน คือ ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว ซึ่งส่วนดังกล่าวจะนำมาฟื้นฟูบ้านพักอาศัย อาคารส่วนราชการ และถนนต่างๆ แต่ในส่วนของยุทธภัณฑ์ ระบบการสื่อสารคมนาคมกำลังรอขออนุมัติอยู่

ผบ.ทอ.กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการ เราจะเตรียมแผนเผชิญเหตุ แต่ด้วยงบประมาณปี 2555 ที่ ได้รับเป็นงบประมาณเกี่ยวกับการดูแลกองทัพไม่ใช่งบป้องกัน ดังนั้นเราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะป้องกันในจุดสำคัญได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งใน 1-2 วันนี้จะมาพูดกันในภาพรวม และจะออกมาเป็นแผนอีกทีหนึ่ง สิ่งแรกทุกคนต้องตระหนักว่าภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นเรื่องของธรรมชาติมีโอกาส เกิดขึ้นได้ตลอด แต่เราจะต้องมีแผนป้องกัน ซึ่งวิทยากรเสนอให้เห็นว่า บทเรียนปี 2554 เป็นปริมาณน้ำที่มากกว่าปกติมาก จึงได้มีการเตรียมการว่า จุดที่จะต้องระวังตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ และที่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นสิ่งบอกเหตุ ทั้งนี้จากที่กองทัพอากาศได้สังเกตปริมาณน้ำที่มาตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย.พบว่า หากปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อไหร่จะเป็นจุดชี้ให้เห็นว่าน้ำเริ่มล้นแม่น้ำเจ้าพระยาแน่ นอน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้จัดการน้ำออกไป รวมทั้งการระบายไม่ว่าฝ่ายตะวันออก หรือ ตะวันตก ที่เห็นว่าจะมีการต่อต้าน ดังนั้นจะต้องมีการระบาย หรือผันน้ำบางส่วนลงไปในทุ่ง ซึ่งขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลได้เตรียมแผนจะผันน้ำลงที่ทุ่งแล้ว ส่วนกองทัพอากาศได้วางแผนเตรียมการป้องกันที่ตั้งดอนเมืองให้เสียหายได้

“จากบทเรียนปี 2554 ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะว่าปัญหาอุทกภัยเป็นเรื่องของชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือเป็นเรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่คงจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะผลเสียหายเกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศชาติ ทั้งนี้ ถ้ามีมวลน้ำจำนวนมากเหมือนปีที่แล้วก็จะต้องเริ่มระบายตั้งแต่ข้างบนลงมา ถ้าจะปล่อยให้น้ำลงมามากทีเดียวถึงรังสิตก็ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบริหารจัดการตั้งแต่ข้างบนลงมาเป็นลำดับ ส่วนกองทัพอากาศ เรามีเครื่องสูบน้ำออกทางคลองสองแค่ 3-4 ตัวเท่านั้น ดังนั้น ชาวบ้านจะต้องเข้าใจว่าเราจะระบายน้ำ แต่จะต้องไม่ให้กระทบต่อทุกฝ่าย เรื่องน้ำอย่างไรก็จะต้องปล่อยให้ไหลไป แต่ในหลักการคือจะทำอย่างไรให้น้ำไปให้ได้ ปีที่แล้วไม่ให้น้ำไป เมื่อน้ำไปไม่ได้จึงต้องหาพื้นที่รองรับ สนามบินดอนเมืองจึงกลายเป็นที่รับน้ำมหาศาลก่อนเข้า กทม.” พล.อ.อ.อิทธพรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น