กมธ.ต่างประเทศสภาฯ เรียกเลขาฯ สภาความมั่นคง แจงกรณีทูตสหรัฐฯ แจ้งเตือนไทยตกเป็นเป้ากลุ่มก่อการร้าย ยืนยันจับ “อาทริส” ได้ก่อนที่อเมริกาจะประกาศเตือน ไม่หวั่นหากไม่ถอนคำเตือน แต่เป็นหน้าที่ต้องพิสูจน์ความบริสุทธ์ให้ได้
วันนี้ (26 ม.ค.) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ มีการพิจารณาศึกษากรณีสถานเอกอัครราชทูตประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เตือนพลเมืองชาวอเมริกันให้ระวังการเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุก่อการร้าย โดยเชิญตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มาชี้แจง
โดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจงว่า การบุกเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัย มีสารตั้งต้นการผลิตวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นพฤติกรรมการก่อการร้าย เพราะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการชักศึกเข้าบ้าน ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.วิเชียรยืนยันว่า สามารถจับกุมนายอาทริส ฮุสเซน ผู้ต้องสงสัยได้ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศเตือน แต่เหตุที่ไม่เปิดเผยข้อมูลเพราะเป็นเรื่องความมั่นคงที่ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน
ด้าน นายอิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงการแจ้งเตือนของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นเรื่องปกติ ที่สหรัฐฯ ต้องดูแลพลเมืองของตัวเองให้ปลอดภัยในการอยู่ต่างประเทศ ซึ่งหน้าที่ของทางการไทย คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทยสามารถมั่นใจได้ ประกอบกับคนในประเทศต้องไม่ตื่นตระหนกเกินเหตุ ขณะเดียวกัน หากสหรัฐอเมริกาและอีกกว่า 10 ประเทศไม่ถอนคำเตือนการเดินทางมาประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ได้กังวล เนื่องจากยืนยันตามการสืบสวนและความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีการก่อการร้ายในประเทศไทย
ด้าน น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก เลขาธิการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ บอกถึงข้อมูลการก่อการร้ายทั่วโลกว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยน่าจะมีมาตรการเตรียมรับมือกับปัญหานี้ในอนาคต โดยแนะนำให้ศึกษาโมเดลจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าประเทศไทยควรพัฒนาความมั่นคงอย่างไรให้เป็นประเทศที่ปลอดการก่อการร้าย
ด้าน นายอภิชาติ อบอุ่นสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านป้องกันการก่อการร้าย สภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานและขั้นตอนชัดเจนในการดูแลเรื่องการก่อการร้ายในประเทศ ตามนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ปี 2545 จึงขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจในการดำเนินงานของหน่วยงานความมั่นคง ขณะเดียวกัน ขอให้สบายใจได้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเป้าหมายในการก่อการร้าย
อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศตั้งข้อสังเกตถึงการประสานงานของหน่วยงานความมั่นคงในประเทศที่มีมากถึง 9 หน่วยงานว่ามีการร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพ ในการแจ้งข้อมูลกับฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ เนื่องจากกระแสข่าวการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าไม่มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียรก็ยืนยันว่ามีการบูรณาการ และรายงานให้รัฐบาลรับทราบโดยตลอด
นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุที่ระยะนี้สหรัฐอเมริกามีประเด็นกับประเทศไทย ทั้งเรื่องผู้ก่อการร้าย และเรื่องแบล็กลิสต์ของนางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเพราะประเทศไทยเข้าใกล้กับประเทศจีนมากเกินไป ทำให้สหรัฐฯ อาจรู้สึกว่าเข้าถึงเอเชียได้ยาก ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า กรณีนางนลินีนั้น อยู่ในพื้นที่ข่าวของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว แต่ไม่มีการนำเสนอในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายของไทย เพียงแต่หลายฝ่ายพยายามตีความกันไปเอง ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ยังคงมองว่าประเทศไทยเป็นมิตรประเทศแรกๆ ในเอเชีย