xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวยุทธศาสตร์จัดการน้ำ “ดร.สุเมธ”-ผ่านแผนปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
ครม.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ 6 ด้าน ตามข้อเสนอ “ดร.สุเมธ” พร้อมไฟเขียวแผนฟื้นฟู และปรับปรุงประสิทธิภาพการก่อสร้าง 4 แผนงานย่อย งบประมาณ 1.7 หมื่นล้าน

วันที่ 27 ธ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบตามที่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้นำเสนอแผนแม่บทและยุทธศาสตร์จัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาวางระบบการแก้ปัญหาน้ำของประเทศอย่างเร่งด่วนต่อ ครม.ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1.การบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก และการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำประจำปี 2.แผนฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิม หรือตามแผนที่วางไว้แล้ว 3.แผนการพัฒนาคลังข้อมูลระบบพยากรณ์และเตือนภัย 4.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ 5.แผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรฐานช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่จากการรับน้ำ และ 6.แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ

สำหรับแผนฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพการก่อสร้าง ประกอบด้วย 4 แผนงานย่อย คือ ปรับปรุงคันกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ การระบายน้ำ การขุดคลอง ขจัดสิ่งกีดขวางในคูคลอง และเสริมคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ บริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ ซึ่งมีการใช้งบประมาณเร่งด่วนที่นำเสนอแผนของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 17,126 ล้านบาท โดยในปี 25 55 งบประมาณจำนวน 12,610 ล้านบาท และปี 2556 จำนวน 4,516 ล้านบาท

นางฐิติมา กล่าวว่า ส่วนร่างยุทธศาสตร์ของ กยน.ในการบรรเทาพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเป็นลุ่มน้ำแรกที่นำเสนอ ซึ่งมีแนวทาง 8 ด้าน คือ 1.การฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 2.การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ 3.การบริหารจัดการในพื้นที่ราบลุ่ม 4.แนวทางบริหารจัดการและพัฒนาการใช้ที่ดิน 5.ระบบฐานข้อมูลการพยากรณ์และเตือนภัย 6.กฎหมายรองรับการชดเชยต่อเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำหลาก 7.มีองค์กรบริหารจัดการน้ำรวมแบบเบ็ดเสร็จ และ 8.การสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น