xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” เผย “มาร์ค-เทือก” ให้ปากคำ 91 ศพ ยังชี้ถูกผิดไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช. (แฟ้มภาพ)
ป.ป.ช.เผยพิจารณาคดีชุมนุมทางการเมือง 91 ศพ เชิญ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ให้ปากคำเกี่ยวกับสำนวนการชันสูตร ยังไม่สามารถชี้ถูกผิดได้ ต้องรอสำนวนการตรวจของตำรวจอีกครั้ง

วันนี้ (10 ธ.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพโดยมิชอบ กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เดินทางไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานเพื่อจัดทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ว่า บุคคลทั้งสองเดินทางไปให้ปากคำในการจัดทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพเท่านั้น ไม่ใช่สำนวนในคดีอาญาเพื่อชี้ว่าใครผิดหรือใครถูก

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น การทำสำนวนชันสูตรจะทำได้ใน 2 กรณี คือ ตายอย่างผิดธรรมชาติ หรือตายเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกรณีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งว่ามี 13 ศพที่อาจจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ทั้ง 13 ศพดังกล่าวเสร็จ ป.ป.ช.จะประสานให้ตำรวจส่งสำนวนดังกล่าวมาให้อนุกรรมการไต่สวน นำมาประกอบการพิจารณาต่อไป โดยคดีที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไป แต่คดีที่เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง เช่น ให้อำนาจสั่งสลายการชุมนุม จะต้องส่งมาให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการไต่สวน ตำรวจไม่สามารถทำเองได้

นายวิชากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติมอบหมายให้ตนเป็นประธานอนุกรรมการด้านการสลายการชุมนุม เพื่อหามาตรการทางกฎหมายมารับรองอำนาจหน้าที่รัฐในการกำกับ ควบคุม และดูแลการชุมนุม โดยจะดูว่าควรออกเป็น พ.ร.บ. หรือแค่ออกเป็นคำสั่งก็พอแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐมักมองการชุมนุมว่าเป็นการก่อจลาจล ทำให้ใช้วิธีการจัดการที่แตกต่างออกไป ทั้งที่การนั่งอยู่กับที่ไม่ได้เดินขบวนไปที่ไหน ควรจะใช้วิธีการจัดการแบบการชุมนุมธรรมดา ทั้งนี้เมื่อได้มาตรการที่เกี่ยวข้องแล้วจะเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดัน
กำลังโหลดความคิดเห็น