“ประชา” แจง กมธ.วุฒิฯ อ้าง “ยิ่งลักษณ์” ไม่นั่ง ผอ.ศปภ.เอง เหตุข้อจำกัดทางสรีระ นั่งนานไม่ได้ เจอ ส.ว.หญิง สวนทันควัน อย่าเอาความต่างทางเพศมาพูด ผู้นำประเทศอื่นเป็นหญิงก็มี สุดท้ายต้องถอนคำพูด ยอมรับตัวเองยังงง ได้รับแต่งตั้งเป็น ผอ.ศปภ.
วันนี้ (2 ธ.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาการปฏิรูประบบงานความมั่นคงของรัฐ โดยมี พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธานการประชุม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เชิญ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เข้าชี้แจงถึงเรื่องการบริหารจัดการใน ศปภ.
ทั้งนี้ ส.ว.ส่วนใหญ่ได้มีการตั้งคำถามกับ พล.ต.อ.ประชา ว่า เหตุใดจึงไม่นำกฎหมายที่อยู่มีในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน มากกว่าการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนี้ หน้าที่ความรับผิดชอบควรจะเป็นของนายกรัฐมนตรี แต่กลับแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ประชา มาทำหน้าที่แทน และการทำงานใน ศปภ.มีการแบ่งขั้นตอนกันอย่างไรบ้าง
ด้าน พล.ต.อ.ประชา ชี้แจงว่า การตั้ง ศปภ.ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากต้องเผชิญกับวิกฤต แต่นายกฯ ก็จำเป็นต้องตั้ง ศปภ.ขึ้น ส่วนการทำงานใน ศปภ.ก็ได้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นระบบ โดยในแต่ละวันจะมีการประชุมถึง 2 ครั้ง เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ แผนที่จะดำเนินการมี 3 แนวทางในการระบายน้ำ คือ ทิศตะวันออก จะมีการทำฟลัดเวย์ ทิศตะวันตก จะระบายไปยังคลองภาษีเจริญ มหาสวัสดิ์ เชียงรากน้อย และ เชียงรากใหญ่ สุดท้ายคือ การผันน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ที่ผ่านมาต้องเจอกับปัญหาในเรื่องของน้ำทะเลหนุน
พล.ต.อ.ประชา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายกฯ ไม่ได้มาทำหน้าที่ด้วยตัวเอง เนื่องจากกายภาพ และสรีระ เพราะการทำหน้าที่ดังกล่าวต้องนั่งประชุมเป็นเวลานาน ขนาดตนบางวันต้องประชุมเวลาถึง 01.00-02.00 น.ซึ่งอาจจะไม่สะดวกนัก แต่นายกฯ รับรู้ความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยสั่งการผ่านตน หรือผู้ที่รับผิดชอบหน้าที่นั้นๆ อย่างไรก็ดี ศปภ.จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง กทม.และปริมณฑล รวม 8 จังหวัด มาทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ของเอง และให้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะถือว่ามีอำนาจตัดสินใจเต็ม ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ พล.ต.อ.ประชา ได้กล่าวชี้แจงการทำหน้าที่ของนายกฯ ที่อ้างว่าติดเงื่อนไขบางอย่างนั้น ทำให้ ส.ว.หญิงบางส่วนได้กล่าวทักท้วง ว่า ผู้นำบางประเทศก็เป็นผู้หญิง ดังนั้น จะมากล่าวในลักษณะนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ความแตกต่างระหว่างหญิงกับชาย ก็มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงมาพูดในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ ทำให้ พล.ต.อ.ประชา ต้องชี้แจงทันควัน พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหาเช่นนั้น จากนั้นจึงได้ขอถอนคำพูดดังกล่าว
นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา ยังยอมรับว่า ตนก็รู้สึกแปลกใจเช่นกัน ที่รัฐบาลมาตั้งตนเป็น ผอ.ศปภ.แต่คาดว่า การที่ได้รับตำแหน่งเพราะสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน เคยสามารถป้องกันไม่ให้ จ.อุดรธานี น้ำท่วมได้ คาดว่า รัฐบาลจึงตั้งให้ตนมาทำหน้าที่นี้ อย่างไรก็ดี แม้ว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบ ศปภ.โดยตรง แต่ก็มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครันต่อการแก้ไขปัญหา จึงถูกตั้งให้เป็นส่วนหน้า ขณะที่ ศปภ.ทำหน้าที่เป็นส่วนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังได้ถามเน้นย้ำ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่าง ศปภ.และ กทม.ที่ผ่านมา ค่อนข้างที่จะขัดแย้งต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดย พล.ต.อ.ประชา ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ศปภ.และ กทม.มีการประสานงานกันตลอด 24 ชม.แต่ก็ยอมรับว่าอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง ในเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ
ที่ประชุมได้มีการสอบถามอย่างกว้างขวาง โดย พล.ต.อ.ประชา จึงได้กล่าวสรุปและบอกว่าจะรับข้อเสนอทุกอย่างไปพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องการใช้กฎหมายที่เห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น