xs
xsm
sm
md
lg

พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศิริราชสมบัติครบ 50 ปีใน พ.ศ.2539 คณะรัฐมนตรีได้เทิดพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยได้ถวายพระราชสมัญญา“พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ณ ศาลาดุสิตดาลัย พระตำหนักจิตลดารโหฐาน ดังคำกราบบังคมทูลโดยนายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรี ว่า

“ ด้วยประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรน้ำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า“น้ำคือชีวิต”

นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก ได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองทั้งจากเอกสารและรายงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ ทรงศึกษารายละเอียดจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศถึงพิกัดที่ตั้งหมู่บ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกล และเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจสภาพพื้นที่ภูมิประเทศจริงทรงกำหนดโครงการต่างๆ ขึ้นบนแผนที่ จากนั้นพระราชทานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎรและทำให้ราษฎรได้มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และทำการเกษตรตามความต้องการอย่างเพียงพอในทุกฤดูกาล

ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องน้ำมิใช่แต่งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำเท่านั้น แต่ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ อาทิ การระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม กรณีพื้นที่นั้นเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ การป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยตลอดจนการแก้ไขบำบัดน้ำเน่าเสีย

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในงานพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำ ข้าพระพุทธเจ้าในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยทั้งมวล จึงพร้อมใจกันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระราชสมัญญาแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า“พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ”

มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี ทำความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรที่มองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

โครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยที่เราเคยแต่ได้ยินได้ฟังกันมาช้านาน มาบัดนี้ก็ได้สัมผัสด้วยประสบการณ์ตรงแล้วว่า โครงการเหล่านี้มีความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร และทำงานอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ การสร้างคันดินกันน้ำ การสร้างแก้มลิงรองรับน้ำ การขุดลอกคลองลัดน้ำเพื่อย่นระยะทางและเวลาในการระบายน้ำลงสู่ทะเล


โครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยเหล่านี้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ หากนำไปใช้เฉพาะโครงการประเภทใดประเภทหนึ่ง ในกรณีที่มีน้ำปริมาณมหาศาลอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่จะต้องนำไปใช้อย่าง “บูรณาการ” ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ คือมีทั้งเขื่อน มีทั้งคันกั้นน้ำ แก้มลิง คลองลัดน้ำ การขุดลอกคูคลอง ประกอบกันเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ และต้องทำล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะมา ไม่ใช่มาขุดลอกคูคลองเมื่อน้ำเหนือกำลังมา น้ำทะเลกำลังจะหนุน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหานำท่วมได้อย่างยั่งยืน

โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับน้ำนั้นมีลักษณะครบวงจรคือ มีทั้งเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิของมนุษย์

ตัวอย่างของโครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรีและสระบุรี และโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำบ้านท่าด่าน จังหวัดนครนายก การจัดการทรัพยากรน้ำในลักษณะ เขื่อนระบายน้ำ งานขุดลอกหนองและบึง และงานสระเก็บน้ำ โครงการแก้มลิง เป็นการระบายน้ำออกจากที่ลุ่มกรณีพื้นที่นั้นเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ โครงการคลองลัดโพธิ์ซึ่งช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล

สมแล้ว กับพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ”

กำลังโหลดความคิดเห็น