ปชป.จัดคิว 10 ส.ส.ซักฟอก “ประชา” วาง “สาทิตย์” ปูพื้น ก่อนให้ “อภิรักษ์” ชำแหละ ศปภ.บริหารจัดการน้ำไร้หลักวิชา ปล่อยการเมืองแทรกแซงจนเละ ตีกระทบ “ยิ่งลักษณ์” เลือกใช้ ม.31 พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย หวังลอยตัว บริหารไม่เป็น เล็งแฉอีกปมจัดซื้อ “บิ๊กแบ็ก” ส่อแววฉาว พ่วงชำแหละ พ.ร.ฎ.อภัยโทษเพื่อ “แม้ว”
วันที่ 21 พ.ย. พรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมรายชื่อ ส.ส.ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เอาไว้เบื้องต้นประมาณ 10 คน โดยจะชี้ให้ประชาชนเห็นถึงความล้มเหลวและการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของ ศปภ.ด้วยการลำดับเหตุการณ์ให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณน้ำในเขื่อน นโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีการระบายน้ำทั้งที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับพายุ เพราะมุ่งแต่คิดถึงฐานเสียงผ่านนโยบายรับจำนำข้าว จนกระทั่งเขื่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งในส่วนนี้จะมอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ปูพื้นฐานข้อมูล ก่อนที่จะให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตผู้ว่า กทม.ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับการระบายน้ำได้ให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเห็นภาพว่าการบริหารจัดการน้ำของ ศปภ.ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชา แต่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจนทำให้เป็นอุปสรรคต่อแผนการระบายน้ำ อีกทั้ง ศปภ.ยังปล่อยปละละเลย ขาดความเอาใจใส่ในการกำหนดแผนการระบายน้ำ ปล่อยให้ประตูระบายน้ำฝั่งตะวันตกเสียถึง 14 แห่งอันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมหนักที่ฝั่งธนบุรีด้วย
“ทางพรรคเห็นว่าปริมาณน้ำคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายเพียงแค่ 20% ที่เหลืออีก 80% เป็นพราะรัฐบาลและ ศปภ.บริหารจัดการล้มเหลวจนทำให้เกิดความเสียหายมากเกินกว่าความจำเป็น ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่ ศปภ.จะจำกัดวงความเสียหายได้ แต่กลับบริหารงานแบบไร้แผนขาดระบบการติดตามงาน จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล” แหล่งข่าวกล่าว
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังมุ่งที่จะชี้ให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาการขาดภาวะผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านความล้มเหลวของ ศปภ.โดยเฉพาะประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.บรรเทาและป้องกันสาธารณภัย แต่กลับไม่รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำโดยตรง ถือเป็นการลอยตัวจากความรับผิดชอบในฐานะผู้นำประเทศโดยโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปที่ พล.ต.อ.ประชา ขณะที่ พล.ต.อ.ประชาก็มีการลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ส.ส.เข้าไปบริหารัดการเรื่องของบริจาค ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระฐธรรมนูญมาตรา 266 อย่างชัดแจ้ง ซึ่งประเด็นนี้ทางพรรคมอบให้นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา เป็นผู้อภิปราย
“คิดว่าการอภิปรายครั้งนี้แม้ว่าอาจจะไม่มีข้อมูลใหม่เพิ่มเติมมากนัก แต่ความล้มเหลวผิดพลาดที่ชัดเจนของ ศปภ.นั้นยังไม่มีการนำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบเพื่อตอกย้ำความล้มเหลวกับประชาชน แม้ว่าจะมีการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นการอภิปรายสลับระหว่างฝ่ายค้าน รัฐบาลและวุฒิสภา ซึ่งแตกต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะให้ข้อมูลที่ตรงประเด็นต่อเนื่องทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจได้ง่าย และเชื่อว่าชาวบ้านจะมีอารมณ์ร่วมกับการอภิปรายของฝ่ายค้านเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ถึงความผิดพลาดของรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นของบริจาคและการทุจริตถุงยังชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ พล.ต.อ.ประชาจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และยังมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อบิ๊กแบ๊กที่อาจกลายเป็นบิ๊กแร็ปคือการปล้นขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งทางพรรคอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังเตรียมอภิปรายเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษด้วย แม้ว่า พล.ต.อ.ประชาจะออกมายืนยันว่า เนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่การออกมาแถลงหลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนักถึง 5 วัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติและมีพิรุธ อีกทั้งยังออกมาแถลงหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณเขียนจดหมายไม่ขอรับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกา แสดงว่า พล.ต.อ.ประชา เลือกที่จะฟัง พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่าฟังเสียงประชาชน
สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านจะอภิปรายเปิดญัตติและมอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นผู้สรุปปิดญัตติ