ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จับมือเมืองปากน้ำ เขตลาดกระบัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และผู้นำชุมชนรอบพื้นที่ วางแผนรองรับปริมาณน้ำด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ผ่านเขตลาดกระบัง-สมุทรปราการ
วันนี้ (14 พ.ย.) นายสมชัย สวัสดีผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ในวันนี้ การท่าอากาศยานฯ ได้เชิญผู้แทนจังหวัดสมุทรปราการ เขตลาดระบัง นายก อบต.และผู้นำชุมชนต่างๆ ที่อยู่โดยรอบสนามบินทั้ง 85 แห่ง เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องระบบป้องกันน้ำท่วมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่ประกอบด้วย เขื่อนดินสูง 3.5 เมตร โดยได้สร้างมาตั้งแต่ปี 2538 แล้วเสร็จในปี 2542 ซึ่งระบบดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อชุมชน รวมทั้งเป็นระบบที่สามารถรับน้ำภายใน ทสภ.ได้เป็นอย่างดีถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยไม่ต้องสูบออก
โดย นอกจาก ทสภ.ได้ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวแล้ว ยังได้มีการคำนึงถึงชุมชน โดยการขุดลอกคลองหนองงูเห่า ซึ่งเป็นคลองขนานสนามบินด้านทิศตะวันออกและคลองลาดกระบัง ที่ขนานด้านทิศตะวันตกให้กว้างจากเดิมเป็น 35-40 เมตร รวมทั้งมีการขุดคลองด้านเหนือของสนามบิน และด้านใต้ของสนามบิน เพื่อเชื่อมคลองทั้ง 2 เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มรองรับและระบายน้ำจากเขตลาดกระบัง
“ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทสภ.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำมาโดยตลอด และสถานการณ์น้ำเริ่มเข้ามาสู่พื้นที่เขตลาดกระบัง จึงได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สำรวจดูคลองต่างๆ โดยรอบพื้นที่สนามบิน ซึ่งพบว่า มีคลองทางด้านใต้สนามบินหลายคลองมีปัญหาตื้นเขิน และมีสิ่งกีดขวาง เช่น คลองลาดกระบัง คลองบางโฉลง ฯลฯ จึงได้ระดมพนักงานรักษาความปลอดภัยและพนักงานดับเพลิงและกู้ภัยกว่า 200 คน พร้อมรถดับเพลิงที่มีกำลังฉีดน้ำสูง และอุปกรณ์ต่างๆ ไปขุดลอกสิ่งกีดขวาง เช่น ผักตบชวา เศษหิน ไม้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ใช้น้ำจากรถดับเพลิงฉีดโคลนใต้น้ำ บริเวณคลองช่วงที่อยู่ใต้สะพานถนนบางนา-ตราด โดยได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา หลังจากนั้น ได้มีการสำรวจปริมาณน้ำที่สถานีสูบน้ำชายทะเลของกรมชลประทาน พบว่าปริมาณน้ำที่กรมชลฯ ได้สูบออกมีจำนวนมากขึ้นจากเดิมกว่า 7 แสนถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน” นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นความสำคัญของการจับมือกันเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณนี้ และร่วมมือกันระดมสรรพกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ เครื่องจักรที่มี เพื่อช่วยกันเตรียมการรองรับน้ำที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ รวมทั้งจะช่วยกันพิจารณาแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป โดยการตั้งผู้นำชุมชนเป็นผู้แทนร่วมเป็นคณะทำงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป