xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” ชำแหละ รบ.แก้ปัญหาน้ำท่วมเหลว ไม่เข้าใจกระแสพระราชดำรัสฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา
ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว ทวีตเตอร์ชำแหละความล้มเหลวการแก้ปัญหาอุทกภัยของ รบ. ชี้ไม่เข้าใจกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี 38 ซัด กยอ.ขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน


วันนี้ (8 พ.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (การเมืองสีเขียว) ได้ทวีตเตอร์ กล่าวถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและอนาคตประเทศไทย (กยอ.) ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานนั้น ไม่เข้าใจกระแสพระราชดำรัสของในหลวง เมื่อเดือนกันยายน 2538 และไม่ถามความเห็นประชาชน ย่ำรอยความล้มเหลวซ้ำซาก ผมมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กยอ.ดังนี้

1.รัฐบาลควรทำความเข้าใจในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 โดยเฉพาะพระราชดำรัสว่าด้วย “Flood Way” หรือ “ทางน้ำ” นั้น มีนัยสำคัญ คือ การจัดระบบผังเมือง และระบบอุตสาหกรรมที่ไม่ไปขวางทางน้ำ แต่ กยอ.กลับมีแนวคิดเดินหน้าสร้างเมกะโปรเจกต์ในบริเวณเดิมอีกต่อไป

2.กรรมการ กยอ.ไม่มีสัดส่วนนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และโดยเฉพาะผู้ประสบอุทกภัย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นรูปธรรม ขาดมิติด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เกษตรกรรม เน้นด้านเศรฐกิจ เน้นบทบาทของภาครัฐ หรือกำหนดธง กำหนดแผนจากข้างบน ทั้งที่ปรากฎชัดว่าการกำหนดนโยบายสาธารณะจากบนลงล่าง เป็นปัจจัยของการพัฒนาที่ล้มเหลวและส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงและถี่ขึ้น

3.บทบาทและอำนาจหน้าที่ของ กยอ.ไม่ใช่แค่การฟื้นฟู แต่มีบทบาทในการกำหนดอนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหญ่ ฉะนั้นควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน หมดยุค “ทักษิณ คิดเพื่อไทยทำ แต่คนไทยรับกรรม” การสร้างอนาคตประเทศคนไทยควรมีส่วนร่วมในการคิด ทำ และรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะ “partnership” หรือ “หุ้นส่วน”

4.การประกาศแผนฟื้นฟูฯ ในขณะที่พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งรวมทั้งพื้นที่สำคัญของภาคเกษตรและโรงงานอุตสาหกรรมในเขตตะวันตก และประชาชนนับล้านคนกำลังสุ่มเสี่ยงและมีโอกาสจมน้ำสูญเสียพอๆ กับส่วนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ จึงเป็นการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ผิดที่ผิดเวลา

5.ความเชื่อมั่นของรัฐบาลในวันนี้ ไม่ใช่ให้รอวันหน้า แต่คือการพิสูจน์ศักยภาพและความสามารถในการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ในวันนี้ เพราะถ้ารัฐบาลล้มเหลวในสายตาประชาชน รัฐบาลก็ย่อมไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ความรู้สึกร่วมในการกำหนดอนาคตร่วมกับรัฐบาลก็ย่อมเป็นไปได้ยาก คล้ายสภาวะ “สร้างดาวคนละดวง” เหมือนที่ผ่านๆ มา

สำหรับกิจกรรมของกลุ่มกรีนนั้น กำลังประสานเครือข่ายประชาชน ชุมชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่ประสบอุกภัย เพื่อถอดบทเรียนและกำหนดแผนฟื้นฟูร่วมกัน โดยจะสร้างเครือข่ายผู้ประสบภัยและเตรียมระดมเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อาสาสมัครช่างไม้ ช่างปูน ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อฟื้นฟูพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น