xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” หนีน้ำไปนอก ประชุมเอเปกฮาวาย 12-14 พ.ย.อาเซียนซัมมิตบาหลี 17-19 พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
“ยิ่งลักษณ์” เตรียมหนีน้ำไปนอก 12-14 พ.ย. ร่วมประชุมเอเปกที่ฮาวาย เตรียมโอ่เต็มที่ เป็นรัฐบาลมาจากเสียงประชาชนท่วมท้น พร้อมแจงมาตรการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด เรียกความเชื่อมั่นต่างชาติ ก่อนบินต่อ ประชุมสุดยอดอาเซียน ที่บาหลี 17-19 พ.ย.

วันที่ 7 พ.ย. นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ครั้งที่ 19 ซึ่งปีนี้กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย. 2554 ณ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้นำเอเปกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม โดยปีนี้หัวข้อการประชุมคือ การสร้างเศรษฐกิจที่ไร้รอยต่อในภูมิภาค (Seamless Regional Economy)

ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ผู้นำเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนาดาจะได้มีโอกาสพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนวทางเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงเพื่อตอบสนองและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ปัญหาภัยภิบัติ ความมั่นคงด้านอาหาร และความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

การเข้าร่วมการประชุมฯ จึงถือว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นเวทีที่สำคัญ ที่นายกรัฐมนตรีจะได้แสดงจุดยืนของไทยในประชาคมโลก และยืนยันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยจะได้ใช้โอกาสนี้เรียกคืนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ เช่น การเมืองที่ไทยได้ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมาอย่างราบรื่น และรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเพื่อเข้ามาบริหารประเทศอย่างท่วมท้น ความมั่นใจในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของรัฐบาล และในขณะนี้ ที่ไทยกำลังประสบปัญหาอุทกภัย นายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงสถานการณ์และการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลและช่วยเหลือนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การลงทุนในประเทศไทยดำเนินต่อไป ซึ่งได้กำหนดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูในระยะต่างๆ อย่างครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจะมีโอกาสพบปะทวิภาคีกับผู้นำสำคัญ คือ รัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจะได้ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือช่วงที่ไทยประสบอุทกภัย และชี้แจงแนวทางการฟื้นฟูและมาตรการการช่วยเหลือนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย

สำหรับกำหนดการสำคัญมีดังนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะจะออกเดินทางในวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ในช่วงเช้า และเมื่อเดินทางถึงเมืองโฮโนลูลูจะเข้าหารือกับนักธุรกิจที่เป็นสมาชิก US-APEC Business Coalition ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน (Working Lunch) กับภาคเอกชนชั้นนำ กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ Investment Frontier, where is the smart money going หารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประธานาธิบดีเกาหลี ประธานาธิบดีรัสเซีย ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและภรรยาเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนั้น วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2554 จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (AELM) ภายใต้หัวข้อ Growth and Jobs และหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก กับ สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก (ABAC) จากนั้นร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันผู้นำเอเปก และประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ภายใต้หัวข้อ Energy Efficiency and Energy Security จากนั้นให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ได้แก่ CNN (สหรัฐ) และ CCTV (จีน) หลังจากนั้น พบชุมชนไทยในเมืองโฮโนลูลู

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 นายกรัฐมนตรีจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนครโฮโนลูลู และเดินทางถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2554 เวลา 22.15 น.

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (19th ASEAN Summit and Related Summits) ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2554 ณ บาหลี อินโดนีเซีย นอกจากการหารือระหว่างผู้นำอาเซียน จะมีการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และสหรัฐอเมริกา การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(EAS) บุคคลระดับสูงที่ร่วมเดินทาง ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อติดตามพัฒนาการในการสร้างประชาคมอาเซียน พร้อมกับผลักดันประเด็นสำคัญ อาทิ ความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ทั้งในระยะเตรียมพร้อม บรรเทา และฟื้นฟู ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงมาตรการฟื้นฟูของไทยหลังอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบและฟื้นฟูความเชื่อมั่น รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน การเชื่อมโยง (Connectivity) อาเซียนให้มีความสมบูรณ์ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการปฏิบัติภารกิจ ดังนี้ เดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ในวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2554 เวลา 16.30 น. โดยประมาณ ไปยังบาหลี อินโดนีเซีย

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2554 เวลา 09.00-09.30 น. พิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 09.50 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน ฯ การประชุมเต็มคณะ (Plenary) เวลา 10.30 น. การประชุมสุดยอดเซียน การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) เวลา 14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน–การประชุมเต็มคณะ(Plenary) เวลา 16.20 น. การประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับ ASEAN Business Advisory Council (ABAC) เวลา 17.10 น. พิธีลงนามเอกสารผลลัพธ์โดยรัฐมนตรีอาเซียน และมีผู้นำอาเซียนเป็นสักขีพยาน เวลา 17.30 น. พิธีลงนามปฏิญญาบาหลีว่าด้วยประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2554 เวลา 08.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 เวลา 09.30 น. พิธีเปิดศูนย์อาเซียน-จีน เวลา 10.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 เวลา 11.10 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน- สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 14 ต่อมา เวลา 14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 ครั้งที่ 14 เวลา 16.30 น. การประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 3 ช่วงค่ำเวลา 20.00 น. นายซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียและภริยา จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ กาลาดินเนอร์

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2554 เวลา 09.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 4 เวลา 10.20 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 9 เวลา 11.40 น. การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit–EAS) ครั้งที่ 6 การประชุมเต็มคณะ(Plenary) เวลา 13.45 น. การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) เวลา 16.20 น. พิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9

หลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะยังได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น(Mekong-Japan Summit) ร่วมกับนายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ การให้ความช่วยเหลือด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของไทยแก่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค เช่น การจัดภัยพิบัติทางน้ำ สิ่งแวดล้อมและการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ก่อนเดินทางกลับในเวลา 21.00 น. คาดว่าจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 24.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น