นายกฯ สั่งตั้ง กก.ร่วม กทม.-กรมชลฯ-รัฐบาล จัดการเปิดปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่ฝั่งตะวันออกถึงฝั่งตะวันตกของ กทม. ส่ง “จารุพงษ์” นั่งประธาน หวังไกล่เกลี่ยชาวบ้าน รองผู้ว่าฯ กทม.หวังใช้มาตรการเยียวยาให้ชาวบ้านยินยอม รับหากเปิดรับน้ำเข้า กทม.มากเกิน ระบบระบายน้ำวิกฤตแน่
วันที่ 1 พ.ย. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม. โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่าให้ตั้งคณะทำงานร่วมบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาในพื้นที่ กทม. โดยมีตัวแทนร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบกับด้วย กทม. กรมชลประทาน และรัฐบาล โดยคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ติดตามปัญหาความไม่เข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ โดยเฉพาะการเปิดปิดประตูระบายน้ำ ว่าหากเปิดหรือปิดในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดจะมีผลกระทบอย่างไรต่อพื้นที่ใกล้ เคียงบ้าง
นายพรเทพกล่าวต่อว่า ภารกิจเร่งด่วนตอนนี้ คือ การดูพื้นที่ทางตะวันออกของ กทม.ที่เป็นปัญหาอยู่ เพราะมีหลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยคณะทำงานชุดนี้จะดูแลในเรื่องการเยียวยาและการหาความสมดุลให้กับผู้ได้รับผลกระทบว่า ถ้าเกิดมีการเปิดประตูระบายน้ำประชาชนที่อยู่ตอนใต้ของประตูจะมีผลกระทบอะไรบ้าง
นายพรเทพกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในทิศตะวันออกของ กทม. มั่นใจว่าจะไม่ทราบผลกระทบต่อเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และบางชัน เพราะการเปิดปิดประตูระบายน้ำไม่ได้ทำแบบยกบาน แต่เป็นลักษณะคำนึงถึงความสมดุลของระดับน้ำในคูคลอง นอกจากนี้ คณะทำงานก็จะลงพื้นที่ไปดูปัญหาในการระบายน้ำในส่วนของฝั่งตะวันตกของ กทม.ด้วย
“สำหรับระบบการระบายน้ำของ กทม.มีขีดจำกัดในระดับหนึ่ง คือวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีน้ำอยู่ทางตอนเหนือของ กทม.อยู่ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. โดยส่วนหนึ่งเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 360 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งตรงนี้ กทม.จะเร่งระบายให้เร็วที่สุด” นายพรเทพระบุ
ขณะที่ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤต กล่าวว่า คณะทำงานร่วมที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้นจะมีนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน เพื่อทำงานร่วมกับ กทม.โดยนายพรเทพและผู้แทนจากกรมชลประทาน จะมีการลงพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของ กทม.ไล่ตั้งแต่พื้นที่ทางตอนเหนือจนมาถึงประตูระบายน้ำคลองสามวาที่กำลังมีปัญหาอยู่ในตอนนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัด และความสูงต่ำของพื้นที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องลงพื้นที่และพิจารณาเป็นกรณีไป รวมไปถึงพิจารณาในส่วนของเครื่องมือตัวช่วยในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายน้ำ คูคลอง เครื่องสูบน้ำต่างๆ ด้วย เพื่อให้การทำงานของทุกภาคส่วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้จะดำเนินการในแนวทางเดียวกับฝั่งตะวันตกของ กทม.ด้วย