xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ยันไม่ย้าย ศปภ.หลังน้ำทะลักท่วมกว่า 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น้ำทะลักเข้าดอนเมืองแล้วกว่า 50% จนท.เร่งย้ายผู้ประสบภัยใน ศปภ. ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ยันยังไม่ย้าย ศปภ.ไปที่อื่น มั่นใจป้องกัน กทม.ชั้นในและสุวรรณภูมิไว้ได้ วอน ปชช.เชื่อมั่นข้อมูลจาก รบ.ที่ได้พิจารณาอย่างรัดกุม ก่อนเตือนล่วงหน้า 3 ชม.



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์  

เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 26 ต.ค.ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าในส่วนของ ศปภ.จะยังไม่มีการย้ายที่ทำการยังปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารท่าอากาศยานดอนเมือง เพราะต้องการให้อยู่ดูแลประชาชน เมื่อถามว่าหากสถานการณ์จำเป็นจริงได้พิจารณาสถานที่สำรองของ ศปภ.ไว้ที่ใดบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงด้วยวิธีทำงาน ศปภ.จะอยู่ตรงไหนก็ได้ แต่ในการทำงานถ้าทำรวมศูนย์อยู่ในที่เดียวกันก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ก็มองไว้บ้างแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจเพราะอยากดูพื้นที่ที่คนสามารถทำงานนั้นสามารถมีที่พักและเดินทางมาทำงานได้ แต่คงไม่ย้าย ศปภ.ไปอยูที่จ.ชลบุรี ถ้าจะย้ายก็จะอยู่ในพื้นที่ กทม. เชื่อไม่เกิน 1 สัปดาห์แก้ปัญหาสินค้าขาดแคลนได้

“แต่ความจริงแล้ว ศปภ.ดอนเมืองยังอยู่ได้ เดินทางมาทางโทลล์เวย์ แต่ก็เป็นห่วงเรื่องขาออก ก็อาจจะจัดที่พักให้กับคนทำงานเพื่อความสะดวก และกำลังดูสถานที่อื่นที่ดีกว่านี้แต่เชื่อว่าโดยจิตวิญญาณของคนทำงานนั้นไม่ว่ายากอย่างไรก็พร้อมที่จะเข้ามาทำงาน และ ศปภ.ดอนเมืองจะยังอยู่ และจะย้ายเป็นหน่วยงานสุดท้าย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนผู้อพยพที่พักอาศัยอยู่ที่ดอนเมืองและต้องการกลับภูมิลำเนามากกว่าย้ายไปศูนย์พักพิงอื่นนั้น รัฐบาลก็พร้อมจัดรถให้บริการฟรี อย่าล่าสุดมีการย้ายไปที่จังหวัดลพบุรี และชลบุรีก็ดำเนินการแล้วรวมทั้งประชาชนที่ต้องการออกไปยังต่างจังหวัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้ประชาชนได้กลับไปอยู่กับญาติพี่น้อง ทางด้าน ขส.มก.เตรียมให้บริการโดยแยกเป็นพื้นที่โดยติดต่อที่ ศปภ.ได้เลย ในส่วนศูนย์พักพิงในพื้นที่กทม.ก็จะมีที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานที่รองรับอยู่ นอกจากนี้ ยังได้จัดในส่วนขอศูนย์ราชการคอยให้ความช่วยเหลือด้วย ส่วนประชาชนบางส่วนที่อยากอยู่ต่อที่ศูนย์ฯดอนเมืองนั้นคงต้องพิจารณาเรื่องของปริมาณน้ำโดยขอประเมินในวันเดียวกันนี้ (26 ตค.) ถ้าสถานการณ์ต่างๆเริ่มดีขึ้นก็อาจจะยังพักพิงต่อได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเพื่อความปลอดภัยก็อยากขอให้ประชาชนที่อพยพมาอยู่นั้นย้ายสถานที่พักพิง ซึ่งถ้าไม่อยากไปต่างจังหวัดก็ไปที่ศูนย์ของราชมังคลาฯได้ซึ่งขณะนี้สถานที่พร้อม

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีรายงานจุดแตกเพิ่มในรอยต่อของกทม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เดี๋ยวจะมีการหารือกัน แต่ตลอดเวลาเราได้ส่งกำลังของศปภ.ทำงานร่วมกับกทม.อย่างใกล้ชิด ส่วนไหนกทม.ทำงานไม่ได้ ศปภ.จะเข้าไปทำงานทันที ขณะนี้มีการประสานงานกันทุกส่วนไม่มองว่าเป็นงานของใคร จุดไหนซ่อมได้ก็จะทำทันทีโดยเฉพาะจุดสำคัญๆ ที่เป็นรอยต่อก็จะมีการเพิ่มสรรพกำลังลงไป อย่างเมื่อวันที่ 25 ตค.ที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จในการใช้ถุงทรายขนาดใหญ่ลงไปอุดรอยชำรุดที่เมืองเอก แต่ก็ยังมีจุดอื่นแตกเพิ่ม และวันเดียวกันนี้ก็จะมีการนำเข้าถุงทรายขนาดใหญ่ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายสถานการณ์ก็จะดีขึ้นบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ ในฐานะผอ.ศปภ.ระบุว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม.ยังมั่นใจแค่ 50% นั้น หมายความว่าอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อย่างที่พูดไว้วันนี้น้ำเป็นพายุมหึมามาก และมีปัจจัยใหม่ๆเข้ามาเพิ่ม ดังนั้นก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาให้ได้ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องยาก คงต้องมีน้ำไหลเข้ามาในพื้นที่กทม.บ้างแต่เราก็จะพยายามทำให้น้ำนั้นไหลผ่านให้เร็วที่สุดสิ่งที่เราพยายามทำวันนี้คือการชะลอเพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาอย่างรุนแรงจนประชาชนเตรียมตัวไม่ทัน เราพยายามชะลอเพื่อให้น้ำมีเวลาไหลลงผ่านตามท่อระบายน้ำของกทม. แต่ด้วยศักยภาพระบบสูบน้ำของกทม.เพียงจังหวัดเดียวเท่ากับของกรมชลประทานทั้งประเทศก็หวังว่าจะสามารถช่วยได้ในบางส่วน

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือยังว่าประตูระบายน้ำของกทม.เปิดเต็มที่ทั้งหมดหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่อยากพูดคำว่าเปิดหมด เอาเป็นว่าตอนนี้กทม.เปิดเต็มที่ในส่วนของการระบายน้ำที่จะรับได้อย่างพื้นที่ด้านใต้คลองแสนแสบน้ำยังไม่เต็มเพราะปัญหาพื้นที่ของกทม.แบนราบน้ำก็ไม่ค่อยจะไหลลงน้ำก็รวมตัวกันอยู่เราจึงพยายามให้ไหลลงประตูระบายน้ำมากขึ้น

เมื่อถามว่าเท่าที่ประเมินน้ำจะทะลักเข้าท่วมพื้นที่กทม.100% หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จุดใหญ่ที่เราป้องกันไว้ทั้ง 3 จุด ทั้งฝั่งตะวันออก ด้านทิศเหนือ บริเวณประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ และฝั่งตะวันตก บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาถ้าเราสามารถกั้นได้สถานการณ์ก็จะดีขึ้น แต่ถ้าจุดใดจุดหนึ่งไม่สามารถป้องกันได้น้ำก็จะท่วมในบริเวณดังกล่าว แต่ถ้าเลวร้ายคือทั้ง 3 จุดไม่สามารถดำเนินการป้องกันได้น้ำก็จะท่วมพื้นที่กทม.ทั้งหมด แต่ถ้าบางส่วนเรายังรักษาไว้ได้น้ำก็จะไม่ท่วมพื้นที่กทม.ทั้ง 100% ระดับน้ำก็คงจะมีความสูงไม่เท่ากันเริ่มตั้งแต่ 10 ซม.- เมตรกว่า เส้นทางคมนาคมก็จะมีทางด่วน มีทางโทลล์เวย์ที่ยังสามารถใช้การได้

เมื่อถามว่า โอกาสที่ 3 จุดคันกั้นน้ำ กทม.จะพังมีมากแค่ไหน นายกรับมนตรี กล่าวว่า เป็นไปอย่างที่พล.ต.อ.ประชาระบุไว้คือ 50/50 แต่ในความเป็นจริงของการทำงาน เจ้าหน้าที่ทำมากกว่า 50 พยายามทำทุกวิถีทาง วันนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน กองทัพ กทม.ต่างก็เข้ามาช่วยกัน รวมทั้งตำรวจด้วย เมื่อถามว่า ในเรื่องการเตือนภัย ศปภ.จะสามารถทำได้ทันท่วงทีหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันเป็นหน้าที่ของ ศปภ.และรัฐบาลอยู่แล้วในการทำให้เกิดความรัดกุมและรอบครอบ ที่ผ่านมาประชาชนอาจรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เตือนภัย แต่ทาง ศปภ.เน้นการพูดความจริงให้ประชาชนทราบข้อมูล บางครั้งที่ไม่ได้พูดมากไป เนื่องจากการประเมินยังไม่ชัดเจน ถ้าพูดไปแล้วไม่เป็นไปอย่างที่แจ้งเตือนก็จะขาดความน่าเชื่อถือรวมทั้งยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเพิ่มเติมอย่างเช่นปัญหาน้ำทะเลหนุน พยากรณ์ระบุว่าจะสูง 2.30 เมตร แต่มาจริง 2.42 เมตร แตกต่างถึง 10 เซนติเมตรถือว่ามีความหมายมาก ขณะเดียวกันปัญหาขณะนี้คือทรายหมด ในพื้นที่ต่างจังหวัดยอมขุดแม้แต่ในสนามฟุตบอล ตอนนี้เราต้องระดมทรายมากกว่าพื้นที่จังหวัดอื่นๆ การเดินทางก็มีปัญหา ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทุกอย่างยากในการคอนโทรนก็ต้องขอความเห็นใจจากทุกๆฝ่าย ที่ผ่านมาทุกคนไม่คิดว่าน้ำจะมาเร็วและแรงและมีความสูงมากขนาดนี้

“ในจุดต่างๆของบางพื้นที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทางการแจ้งเตือน ขอให้เวลา 1 วันน้ำจะเข้ามาแน่นอนหรือในบางพื้นที่ที่อยู่ติดชิดกับแม่น้ำ ก็ขอให้รีบอพยพหรือขนย้ายสิ่งของภายใน 3 ชั่วโมง”นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่าถ้าสถานการณ์รุนแรงที่สุดประเมินว่ากทม.จะมีภาวะน้ำท่วมขังกี่วันถึงจะระบายลงสู่ทะเลได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่สามารถพูดได้ต้องขอทำงานก่อนเพราะยังไม่รู้ระบบการรระบายน้ำของกทม.ก็ประมาณว่าจะอยู่ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนแต่สถานการณ์จะไม่รุนแรงเหมือนพื้นที่ต่างจังหวัดเพราะต้องถือว่าชาวต่างจังวหัดไดรับความทรมารมากกว่าใช้เวลา 2-3 เดือน และระดับน้ำก็สูงมาก เมื่อถามว่า คิดว่าจะมีพื้นที่ใดในเขตไหนของ กทม.จะถูกน้ำท่วมขังบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในพื้นที่เขตชั้นในของ กทม.เรายังมีความมั้นใจมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ ว่าจะป้องกันได้ โดยตั้งแต่ประตูจุฬาลงกรณ์ ใช้กำลังของกองทัพประมาณพันกว่านายร่วมกับ กทม.ตรวจเวรยามตลอด รวมทั้งการซ่อมจุดรั้วซึม เพราะหากปล่อยให้ประตูจุฬาลงกรณ์มีปัญหาน้ำจะเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นใน แม้จะมีคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริอีกชั้นก็ตาม ขณะนี้ได้ใช้คนเฝ้าในทุกๆจุดและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตามจุดตลอดเวลาและส่งข้อมูลมาให้หน่วยประเมิน เพื่อให้รู้ว่าสถานการณ์เกิดอะไรขึ้น โดยคณะกรรมการที่ประเมินสถานการณ์ที่มีนายรอยล จิตรดอน นายวีระ วงศ์แสงนาค และดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นทีมงานที่ติดตามน้ำในแต่ละจุด

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมวันนี้ กทม.ถึงบอกว่ากรมชลประทานยังเปิดประตูน้ำไม่เต็มที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญจะเข้าใจดีว่าในบางจุดที่เราต้องการให้น้ำไปทางอื่นเราต้องปิดประตูระบายน้ำเพื่อผลักน้ำไปด้านอื่น แต่ในพื้นที่บางประตูหากเราเปิดประตูระบายน้ำทั้งร้อยเปอร์เซนต์ระตูถัดไปสามารถรองรับปริมาณน้ำได้เพียง 50 เปอร์เซนต์จะทำให้เกิดปัญหาน้ำกระฉอกออกด้านข้างได้ บางพื้นที่จะเป็นลักษณะเหมือนคอขวด ดังนั้นการระบายน้ำจึงต้องค่อยๆปล่อยลงไปไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมา ทำให้มองว่ากรมชลไม่ได้เปิดประตูระบายน้ำ100เปอร์เซ็นต์

เมื่อถามถึงปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขาดแคลนอย่างหนักในพื้นที่ กทม.จะแก้ปัญหาอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาเหตุใหญ่ที่สินค้าอุปโภค บริโภคขาดแคลนเป็นเพราะตัวโกดังสินค้าจมน้ำบริเวณวังน้อย จ.พระครศรีอยุธยา ศปภ.แก้ไขโดยการเปิดศูนย์พัสดุที่ดอนเมือง เพื่อให้เป็นจุดรับส่งสินค้า แต่จะมีการเปิดเพิ่ม ซึ่งได้มีการเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดมาหารือแล้วเพื่อให้มีการกระจายสินค้าออกมา แต่ต้องยอมรับว่าสินค้าส่วนหนึ่งติดอยู่ในน้ำ จึงพยายามใช้วิธีการต่างๆ โดยใช้เครื่องบินชีนุกไปดึงตู้คอนเทรนเนอร์สินค้าออกมา ซึ่งตอนนี้เครื่องชีนุกก็เหลือเพียงลำเดียวอีกเครื่องหนึ่งเสีย ขณะเดียวกันจะไปนำสินค้าจากจังหวัดอื่นๆที่มีโรงงงานตั้งอยู่โดยจำทการเปิดศูนยืเพื่อขนถ่ายสินค้า เช่น ที่สัตหีบ ชลบุรี และโคราช เพื่อเร่งระบายสินค้าและส่งขอเข้ามาในพื้นที่ กทม.อีกทส่วหนนึ่งได้ขอให้บริษัทต่างๆเพิ่มกำลังการผลิตและหนทางสุดท้ายบางส่วนคงจะต้องนำเข้าสินค้าเข้ามา โดยจะมีการผ่อนปรนเรื่องการนำเข้าให้เร็วที่สุด เชื่อว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์สถานการณ์จะค่อนๆคลี่คลาย ปัญหาหนักสุดขณะนี้คือเรื่องของน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งยืนยันในส่วนของน้ำประปายังมีความสะอาดพอที่จะดื่มได้ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคควรที่จะนำไปต้มให้สุกหรือการใช้เครื่องกรองน้ำ ซึ่งได้ประสานให้การประปาไปเพื่อจุดเครื่องกรองน้ำเพื่อบริการประชาชน โดยให้นำภาชนะไปรองน้ำมาไว้ใช้ แต่ยืนยันน้ำประปาที่บ้านยังใช้ได้อยู่

เมื่อถามว่า มีการประเมินว่าน้ำทะเลจะขึ้นสูงสุดประมาณ 2.65 เมตร แต่คันกั้นน้ำของ กทม.สูงเพียง 2.50 เมตร จะรับมืออย่างไร นายกรับมนตรี กล่าวว่า ต้องใช้วิธีการเร่งระบายน้ำในส่วนชั้นในออกไปให้มากที่สุดให้เต็มที่ ถ้าสามารถระบายได้เร็วช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงเวลาเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ระบบการระบายก็จะทำได้เร็ว ส่วนจะระบายได้ทันหรือไม่คงต้องประเมินกันวันต่อวัน อาจจะมีบ้างที่น้ำจะกระฉอกล้นเข้ามาในพื้นที่ จึงขอเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร่งขนย้ายขอมีค่า ทีวี ตู้เย็น ขึ้นชั้นสองหรือวางบนโต๊ะจะลาดความเสียหายได้

“วันนี้อยากจะบอกคนกรุงเทพฯว่า อย่าตั้งอยู่บนความประมาท เพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุด ขอให้เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปในการขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง ในเรื่องของระบบไฟ ถ้าเป็นบ้านชั้นเดียวอาจจะลำบาก หากเป็นบ้านสองชั้นให้แยกระบบไฟชั้นบนและชั้นล่าง ถ้ามีน้ำท่วมจะได้ตัดสวิทซ์ชั้นล่าง แล้วใช้ด้านบนแทน หากคนใดอยู่ในพื้นที่ต่ำจริงๆข อให้ย้ายที่อยู่ที่ศูนย์อพยพที่ กทม.หรือทางการจัดเตรียมไว้ หรือไปอยู่กับญาติพี่น้องในต่างจังหวัดก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมินั้น ยังมีความแข็งแรงและมั่นใจว่าจะป้องกันสนามบินสุวรรณภูมิได้”นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่ สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยระดับน้ำสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร รถเล็กยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ขณะที่รถของเจ้าหน้าที่ทหารยังคงจัดให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารที่ยังคงติดค้าง โดยเจ้าหน้าที่จะนำประชาชนไปส่งตามจุดต่างๆ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

นอกจากนี้ ลานจอดรถหลายแห่งในดอนเมืองเริ่มมีน้ำท่วมขังแล้วเช่นกัน บางช่วงสูง 20 เซนติเมตร ขณะที่อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานส่วนบุคคล หรือวีไอพี ดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม.เมื่อวานนี้นั้น วันนี้มีน้ำเอ่อท่วมแล้ว ด้านพื้นที่รันเวย์สนามบินที่น้ำไหลทะลักเข้าท่วมเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะนี้เข้าท่วมถึงรันเวย์ที่ 14 แล้ว และมีแนวโน้มว่าน้ำจะขยายวงกว้างเข้าท่วมเพิ่มเติมอีก

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ประจำ ศปภ.ยืนยันว่า สถานการณ์น้ำล่าสุดขณะนี้ยังคงน่าเป็นห่วง โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมภายในท่าอากาศยานดอนเมืองกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่แล้ว

ขณะที่การขนย้ายผู้ประสบภัยจาก ศปภ.ไปยังสนามกีฬาแห่งชาติ หรือศูนย์พักพิงที่จัดไว้ให้นั้น ขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายไปจนเกือบหมดแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น