เอแบคโพลล์เผยคนกรุงร้อยละ 66.3 เริ่มปรับตัวสู้น้ำท่วม ร้อยละ 53.8 เชื่อหลังน้ำลดได้รายได้เหมือนเดิม ร้อยละ 83.6 ทุกข์ใจการเมืองขัดแย้งซ้ำ ร้อยละ 81.1 วอนรัฐ-ผู้ว่าฯ กทม.จับมือ ร้อยละ 48.9 คาดไม่เกินเดือนปัญหาจบ ร้อยละ 95.5 จี้รัฐซ่อมบ้านหลังน้ำลด
วันนี้ (23 ต.ค.) ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ถอดบทเรียนวิกฤตการณ์น้ำท่วมประเทศไทย กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร 1,305 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ได้เรียนรู้มากขึ้นในเรื่องการปรับตัวสู้กับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า ต้องเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม เห็นความรักความสามัคคีของคนในชาติ ทำให้รู้ถึงผลกระทบของการทำลายธรรมชาติ ประสิทธิภาพการสื่อสารความถูกต้องชัดเจนให้กับสาธารณชนและการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและประชาชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.2 ต้องใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเผชิญกับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ได้แก่ การใช้จ่ายเพราะต้องกักตุนอาหาร น้ำดื่ม ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น นอกจากนี้ ร้อยละ 55.9 ยังระบุว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นอีกภายหลังน้ำลด เพราะต้องซ่อมแซมบ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาสินค้าสูงขึ้น และปัญหาสุขภาพ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 30.4 จะใช้จ่ายเหมือนเดิม และร้อยละ 13.7 จะใช้จ่ายลดลง
แต่เมื่อถามถึงการคาดการต่อรายได้ที่จะได้รับในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 53.8 ระบุรายได้จะเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 31.4 คาดว่าจะลดลง และร้อยละ 14.8 เท่านั้นที่ระบุรายได้จะเพิ่มขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 เป็นทุกข์ใจมาก ถึงมากที่สุด เมื่อได้ข่าวความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วม และร้อยละ 81.1 อยากเห็นความร่วมมือกันแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทยกับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อถามการคาดการณ์ระยะเวลาปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลาย พบว่า ร้อยละ 48.9 คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน ในขณะที่ร้อยละ 21.6 อยู่ระหว่าง 1-2 เดือน และร้อยละ 29.5 ระบุคาดว่าตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
เมื่อถามถึงความสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วนในแผนฟื้นฟูหลังภัยพิบัติน้ำท่วมจากรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 95.5 ระบุซ่อมแซมที่พักอาศัย ทำความสะอาดเมืองและชุมชน รองลงมาคือร้อยละ 91.3 ระบุที่ทำกิน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ร้อยละ 90.8 ระบุสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า และน้ำปะปา ร้อยละ 90.2 ระบุ มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาซ้ำซาก และร้อยละ 87.8 ระบุเร่งแก้ปัญหาสุขภาพจิต และรองๆ ลงไปคือ ช่วยลดรายจ่ายของประชาชน การแก้ปัญหาว่างงาน ทีมงานให้คำแนะนำปรึกษาประจำชุมชน พัฒนาฐานข้อมูลและการสื่อสารภัยพิบัติ และการจัดระเบียบ และวางผังเมืองใหม่ ตามลำดับ