xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.ยันกองทัพกู้นวนครได้แล้ว คาดระบายน้ำได้หมดใน 1 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษกรัฐบาล เผย สถานการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหรรมนวนคร ล่าสุด มีน้ำไหลท่วมแล้ว 10% ของพื้นที่ มีโรงงานได้รับเสียหายแล้ว 10 โรง ยันกองทัพเข้ากู้สถานการณ์ในพื้นที่ที่เหลือได้แล้ว เชื่อระบายน้ำออกได้หมดภายใน 1 วัน หากไม่มีปริมาณน้ำหนุนเข้ามา หรือมีฝนที่ตกลงมาซ้ำ ด้าน “วรรณรัตน์” โพล่ง 277 โรงงานนวนครจมน้ำ แรงงานหนึ่งแสนแปดหมื่นคน เตือนนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ลาดกระบัง และที่ฉะเชิงเทรา เตรียมรับมือ


เวลา 15.05 น.วันนี้ (17 ต.ค.) นายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศปภ.ได้ออกประกาศให้โรงง่านอุตสาหกรรมหยุดการเดินเครื่องจักร และอพยพคนงานประชาชนออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วนว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำได้ปรับระดับสูงขึ้น ซึ่งรายงานล่าสุดน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ในเขตนิคมนวนคร ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมี 10 โรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมสูงถึง 1.5-2 เมตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังกอบกู้พื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ขณะพื้นที่ส่วนใหญ่อีก 90 เปอร์เซ็นต์นั้นทางกองทัพไทยได้เข้าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว โดยกองทัพไทยได้นำเฮลิคอปเตอร์ชีนุก ขนตู้คอนเทนเนอร์ไปสร้างพนังกั้นน้ำแนวที่ 2 เพราะพนังกั้นน้ำชั้น 1 เกิดรูรั่ว ทำให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่ ขณะนี้กองทัพไทยสามารถกั้นน้ำในแนวที่ 2 ได้แล้วบางส่วน แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำหลุดรั่วเข้ามาอีกเล็กน้อย ก็สามารถสูบน้ำออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าประชาชนอยู่ในภาวะที่เสี่ยงภัย จึงขอให้ประชาชนที่มีความพร้อมในการอพยพออกจากพื้นที่ ยังคงปฏิบัติตามประกาศเดิมของ ศปภ.ก่อนหน้านี้

นายวิมกล่าวต่อว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับการดำเนินการเสริมแนวกั้นน้ำที่จะเข้าสู่ กทม.เพิ่มเติม บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองเปรมประชากร และคลอง 1 โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะเสริมแนวกั้นน้ำดังกล่าวให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ กทม.ชั้นใน รวมทั้งมีการเปิดประตูระบายน้ำในบางพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงได้ปรับระดับลดลงแล้ว จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่ถูกท่วมขังลงสู่ลำคลองและระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่า ในส่วนน้ำที่ท่วมขังอยู่ในนิคมนวนครจะสามารถระบายออกได้หมดภายใน 1 วัน หากไม่มีปริมาณน้ำหนุนเข้ามา หรือมีฝนที่ตกลงมาซ้ำ

“ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ กทม.สบายใจได้ในเรื่องของการดูแลแนวกั้นน้ำต่างๆ ว่ายังสามารถควบคุมอยู่ในอัตราที่ปลอดภัยได้” นายวิมระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่นิคมนวนครได้ จะกระทบต่อพื้นที่ใดบ้าง นายวิมกล่าวว่า น้ำจะออกไปทาง จ.ปทุมธานี โดยเข้าทางคลองเปรมประชากร ไหลไปสู่ อ.สามโคก ก่อนเข้าสู่ประตูเชียงรากน้อย โดยจะพยายามสร้างพนังกั้นน้ำไม่ให้ไหลไปสู่พื้นที่อื่น และทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ต้องบังคับน้ำให้ไหลลงสู่คลองให้ได้ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีคูคลองหลายเส้นจึงเชื่อว่าจะไม่กระทบพื้นที่อื่น โดยเฉพาะพื้นที่ก่อน ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ที่มีคลองขนาดใหญ่ดักทางน้ำอยู่ ดังนั้น ถ้าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง และน้ำในทะเลไม่หนุนสูง น้ำที่มาทาง ม.ธรรมศาสตร์ ก็จะไม่ไหลถึงหมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ม.กรุงเทพ หรือ รังสิต ส่วนการระบายน้ำในนิคมนวนครก็อาจจะมีติดขัดอาคารบ้านเรือนที่ถมสูงขึ้นมาบ้าง แต่เชื่อว่า หากสามารถใช้คูคลองเป็นทางระบายน้ำได้ สถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว ซึ่งในส่วนของกรมชลประทานก็มีความมั่นใจว่า จะสามารถระบายออกได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ศปภ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการการเคลื่อนย้ายประชาชนไปสู่ศูนย์พักพิงเป็นการสร้างความลำบากให้แก่ประชาชน แต่ก็ถือเป็นความจำเป็น เพราะไม่สามารถที่จะประมาทให้เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ ทั้งนี้เมื่อประชาชนออกจากพื้นที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าควบคุมพื้นที่ทันที เพื่อระวังป้องกันบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนที่จำเป็นต้องอพยพออกมา

ด้าน นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า รัฐบาลจะป้องกันและต่อสู้กับสถานการณ์น้ำให้ถึงที่สุด หลังแนวกั้นชั้นที่ 1 ไม่สามารถต้านกระแสน้ำได้ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งสร้างแนวกั้นชั้น 2 และ 3 เพื่อไม่ให้เข้าพื้นที่สำคัญชั้นในของการนิคมนวนคร โดยการประเมินความเสียหายเบื้องต้น มีบริษัทได้รับความเสียหาย 227 โรงงาน พนักงานได้รับผลกระทบกว่าหนึ่งแสนแปดหมื่นคน ซึ่งวันนี่ที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งระดมความช่วยเหลือ สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหานิคมต่างๆ หลังน้ำลดจะเร่งฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ทั้งนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ลาดกระบัง และที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว ส่วนความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นในส่วนภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน ดูแลเรื่องนี้เร่งด่วน ส่วนเรื่องสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีโรงงานที่ได้รับผลกระทบนั้นจะมีมาตรการยกเว้นภาษีที่เท่าเทียมกัน แม้จะเป็นพื้นที่ที่ห่างจาก กทม.
กำลังโหลดความคิดเห็น